สายตายาวตามวัยแก้ได้ด้วย FemtoLASIK PRESBYOND

7 นาทีในการอ่าน
สายตายาวตามวัยแก้ได้ด้วย FemtoLASIK PRESBYOND

แชร์

สายตายาวตามวัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเมื่ออายุขึ้นวัยเลข 4 การเปลี่ยนแปลงของดวงตาย่อมมาเยี่ยมเยือน เลนส์แก้วตายืดหยุ่นน้อยลง การปรับโฟกัสของเลนส์ตาแย่ลง มองใกล้ไม่ชัด ต้องมองระยะไกลถึงจะชัด ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เทคโนโลยี FemtoLASIK PRESBYOND จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่แก้ปัญหาสายตายาวตามอายุ ปรับการมองเห็นให้ดีขึ้นกว่าเดิม


สายตายาว

สายตายาว (Hyperopia) เป็นภาวะผิดปกติทางสายตาที่เกิดจากกระจกตาแบนเกินไปหรือขนาดของลูกตาสั้นเกินไปเมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา การรวมแสงจึงตกหลังจอประสาทตา ทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจน หรืออาจเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล ซึ่งอาการสายตายาวที่เป็นตั้งแต่กำเนิด เรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness) หรือ Hyperopia มักจะพบว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งผู้ที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้วอาจจะเกิดภาวะสายตายาวตามอายุหรือสายตาสูงอายุเร็วขึ้น


สายตายาวตามวัย

สายตายาวตามอายุ (Presbyopia) คนที่มีปัญหาสายตายาวเมื่อถึงวัย 40 ปีขึ้นไปหรือเรียกว่า สายตาผู้สูงอายุ เกิดจากการที่เลนส์แก้วตาแข็งขึ้น ความยืดหยุ่นน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น ประกอบกับกล้ามเนื้อตาเสื่อมสภาพตามวัย อ่อนล้าลง ทำให้เลนส์แก้วตาไม่สามารถปรับตัวให้พองขึ้นหรือแบนลงเพื่อช่วยในการโฟกัสภาพได้เหมือนเดิมจึงไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน มีความยากลำบากในการมองระยะใกล้ อาทิ การอ่านหนังสือ เมนูอาหาร ป้ายราคาสินค้า การทานอาหาร เขี่ยก้างปลา การเขียนคิ้ว (Eyeliner) การใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ การขับรถ การเย็บผ้า เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถเพ่งมองใกล้ได้เหมือนตอนอายุยังน้อย


อาการสายตายาว

  • มองเห็นวัตถุระยะใกล้ไม่ชัด ต้องหรี่ตาเมื่อมองใกล้ และอาจมองเห็นไม่ชัดทั้งใกล้และไกลเมื่อเป็นมากขึ้น
  • ไม่สบายตา ปวดตาและรอบดวงตา หรือปวดศีรษะจากการโฟกัสเพ่งมองระยะใกล้เป็นเวลานาน
  • มองภาพไม่ชัดเวลากลางคืน
  • มีปัญหาในการอ่านหนังสือ

สายตายาวตามวัยแก้ได้ด้วย FemtoLASIK Presbyond

ปัญหาจากสายตายาว

แต่ละคนอาจมีปัญหาสายตายาวเร็วหรือช้าแตกต่างกัน บางคนก่อนอายุ 40 ปีจะเริ่มรู้สึกว่ามองระยะใกล้ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ไฟสลัว ๆ แต่เมื่ออยู่ในที่สว่างจะอ่านได้ดี แต่เกือบทุกคนจะประสบปัญหาสายตายาวเมื่ออายุ 45 ปี ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการอ่านหนังสือและใช้สายตาในชีวิตประจำวันลดลง ปัญหาสายตายาวที่ไม่ได้รับการแก้ไขส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่สามารถทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องการได้ มีความสุขน้อยลงในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องหรี่ตาเพ่งมองใกล้ ๆ ทำให้เสียบุคลิกภาพ บางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถ หรือเกิดอันตรายหากทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล


ตรวจเช็กสายตายาว

สายตายาวสามารถแก้ไขได้หลายวิธี โดยจักษุแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจสายตา อาทิ

  • ส่องตรวจในตา (Ophthalmoscopy)
  • วัดความดันลูกตา (Tonometry)
  • ตรวจด้วยเครื่องตรวจตา (Slit Lamp) อาจมีการทดสอบความสามารถในการมองเห็นอื่น ๆ หากมีข้อบ่งชี้เพิ่มเติม
  • ถ่ายภาพกระจกตา (Corneal Topography) เพื่อตรวจดูว่ากระจกตาปกติพอที่จะสามารถทำเลเซอร์ได้หรือไม่
  • วัดกำลังสายตา (Phoropter) เพื่อวัดความผิดปกติในการหักเหของแสงร่วมด้วย

เมื่อทราบปัญหาสายตายาวที่เกิดขึ้น จักษุแพทย์จะแนะนำวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนเป็นสำคัญ


รักษาสายตายาว

วิธีแก้ปัญหาสายตายาวมีหลายวิธี ได้แก่

  1. สวมแว่นสายตายาว
  2. คอนแทคเลนส์
  3. Monovision
  4. เลเซอร์แก้ปัญหาสายตายาวตามอายุ (FemtoLASIK PRESBYOND)
  5. การรักษาสายตาผู้สูงอายุด้วยคลื่นวิทยุ Near Vision CK (Conductive Keratoplasty)
  6. การผ่าตัดใส่วงแหวนที่ตาขาว (Scleral Expansion)
  7. การใส่เลนส์เสริมแก้ปัญหาสายตายาว (Implantable Collamer Lens: ICL)

1) สวมแว่นสายตายาว

โดยสวมแว่นตาที่เป็นเลนส์นูน เพื่อเพิ่มกำลังในการโฟกัสให้มองใกล้ได้ ทดแทนกำลังมองใกล้ที่สูญเสียไปตามอายุ

  • หากเดิมสายตาปกติ ไม่เคยใส่แว่น แก้โดยใส่แว่นตาสายตายาว เฉพาะเวลาต้องการอ่านหนังสือหรือดูระยะใกล้
  • หากเดิมสายตาสั้น ยาว หรือเอียง และใส่แว่นแก้สายตาเพื่อมองไกลอยู่แล้ว แต่เริ่มแว่นตาอันเดิมมองใกล้ไม่ได้ แก้โดย
    1. ใช้แว่นสายตาชนิดมองระยะเดียว เพื่อแก้ปัญหาในการมองระยะใกล้ และยังใช้แว่นอันเดิมไว้มองระยะไกล แต่อาจไม่สะดวก เพราะในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปจะต้องมองไกลและใกล้สลับกันไปตามกิจกรรม ทำให้มีปัญหากับการใส่และถอดแว่นสลับไปมา หรือไม่สะดวกในการใส่ ๆ ถอด ๆ หลายแว่น 
    2. ใช้แว่นสายตาชนิดมองเห็นหลายระยะ หรือ Progressive Lens เป็นแว่นตาที่มีเลนส์ 2 ชั้น Bifocal เรียกว่า เลนส์ชัดหลายระยะแบบไร้รอยต่อ ซึ่งในแว่นตาเดียวจะมองเห็นชัดทั้ง 2 ระยะคือ มองไกลและมองใกล้ เลนส์ส่วนบนไว้มองไกล เลนส์ส่วนล่างไว้มองใกล้ ช่วยเพิ่มความสะดวกไม่ต้องพกพกแว่นหลายอัน
  • หากเดิมสายตาสั้น ยังใช้แว่นเดิมอ่านไกลได้เหมือนเดิม แต่เวลามองใกล้ไม่ชัด แก้โดยถอดแว่นอ่านใกล้แทน เพราะคนสายตาสั้นมองใกล้จะชัด

การสวมแว่นตาแก้ไขสายตายาวตามอายุนับเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่อาจสร้างความรำคาญและเสียบุคลิกภาพ ตลอดจนเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมบางอย่าง อาทิ ตีกอล์ฟ วิ่ง เล่นน้ำ เป็นต้น

2) คอนแทคเลนส์

  • หากเดิมใส่คอนแทคเลนส์สายตาสั้น ยาว เอียงเพื่อให้มองไกลชัด แก้โดยใส่แว่นสายตายาว เพื่อช่วยในการมองใกล้
  • เปลี่ยนคอนแทคเลนส์ที่แก้สายตายาวแบบ Monovision โดยใส่คอนแทคเลนส์ในตาข้างที่ไม่ถนัด (Non Dominance Eye) ให้สามารถมองใกล้ชัด ส่วนตาข้างที่ถนัด (Dominance Eye) ยังคงใช้คอนแทคเลนส์อันเดิมเพื่อมองไกลชัด ต้องอาศัยการปรับตัวในการใช้ตา 2 ข้างพร้อมกันในการมองเห็นชัดเจนทั้งระยะใกล้และระยะไกล

3) Monovision

Monovision เป็นการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นและสายตายาวตามอายุ โดยแก้ไขตาข้างที่ถนัด (Dominance Eye) ให้สามารถมองเห็นในระยะไกลชัดเจน ส่วนตาข้างที่ไม่ถนัด (Non Dominance Eye) จะแก้ไขให้สายตาสั้นเล็กน้อย เพื่อใช้ในการมองระยะใกล้ได้ชัดเจน คุณภาพในการมองไกลอาจลดลงบ้างในตอนกลางคืนหรือที่ที่มีแสงสว่างน้อย แต่ยังคงมองเห็นระยะไกลในชีวิตประจำวันได้ มีประมาณ 50% ของคนที่รับวิธีนี้ได้ แต่มีบางคนที่อาจรู้สึกงง เพราะสายตาสองข้างต่างกันมากเกินไป เป็นต้น

สายตายาวตามวัยแก้ได้ด้วย FemtoLASIK Presbyond

4) เลเซอร์แก้ปัญหาสายตายาวตามอายุ (FemtoLASIK PRESBYOND)

FemtoLASIK PRESBYOND เดิมเรียกว่า Laser Blended Vision (LBV) เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการแก้ไขสายตายาวตามอายุ และสายตาสั้น เอียง สายตายาวแต่กำเนิดพร้อมกัน ทำให้สามารถมองเห็นระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกลชัดเจนในตาเดียวกัน โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตา ประสิทธิภาพในการมองเห็นดียิ่งขึ้น

ด้วยเทคโนโลยีเลสิกไร้ใบมีด (เลเซอร์ทุกขั้นตอน) โดยการเพิ่มความโค้งกระจกตาแบบพิเศษ ที่เรียกว่า Spherical Aberration เพื่อเพิ่มความยาวโฟกัสมากขึ้น Depth of Focus แล้วใช้เลเซอร์แก้ไขความโค้งกระจกตาบริเวณด้านนอกทั้ง 2 ข้างให้โค้งไม่เท่ากันเล็กน้อย

  • ตาข้างที่ถนัด (Dominant) จะปรับความโค้งกระจกตาเล็กน้อย เพื่อช่วยในการมองระยะกลาง ไม่ทำให้การมองระยะไกลลดลง
  • ตาข้างที่ไม่ถนัด (Non Dominant) จะปรับความโค้งกระจากมากกว่า เพื่อให้มองระยะใกล้และกลางได้ดี

ข้อดีหลังทำ FemtoLASIK PRESBYOND

  • มองเห็นได้ทั้งระยะใกล้ กลาง และไกลเมื่อมอง 2 ตาพร้อมกัน โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตาสั้น
  • ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถปรับความโค้งของกระจกตาให้โค้งมาก ๆ เพราะจะทำให้มองไกลไม่ชัด จึงต้องปรับความโค้งกระจกตา 2 ข้างให้โค้งไม่เท่ากันเล็กน้อย การปรับกระจกตาให้โค้งจากเดิม ทำให้การมองไกลไม่ชัดที่สุด แต่จะไม่รู้สึกงง เพราะสายตาสองข้างต่างกันมากเกินเหมือน Monovision  ในบางคนอาจใส่แว่นตาเพื่อมองไกลช่วยเมื่อจำเป็น อาทิ ตอนขับรถ ฯลฯ
  • ผู้ที่เคยทำเลสิกสายตาสั้นมาก่อน แต่มองใกล้ไม่ชัด สามารถทำ FemtoLASIK PRESBYOND ได้ หากความหนาของกระจกตาหนาเพียงพอ

เนื่องจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วตาภายในยังคงเสื่อมไปตามอายุ ในขณะที่ FemtoLASIK PRESBYOND สามารถเข้าไปแก้ไขความโค้งบริเวณด้านนอกของกระจกตา จึงคงประสิทธิภาพการมองระยะใกล้ได้ 7 – 8 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตาของแต่ละคน

5) การรักษาสายตาผู้สูงอายุด้วยคลื่นวิทยุ Near Vision CK (Conductive Keratoplasty)

การรักษาสายตาผู้สูงอายุด้วยคลื่นวิทยุ Near Vision CK (Conductive Keratoplasty) เป็นการใช้คลื่นวิทยุ Radiofrequency แทนเลเซอร์ โดยใช้ความร้อนเป็นจุดเล็ก ๆ ส่งผ่านไปยังบริเวณเนื้อเยื่อกระจกตา ทำให้คอลลาเจนไฟเบอร์หดตึงตัวขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนให้กระจกตาโค้งนูนขึ้น เป็นวิธีที่เกิดการบาดเจ็บน้อย ใช้เวลารักษาเพียง 2 – 3 นาที วิธีการนี้ผลจะอยู่ได้ไม่นาน ประมาณ 1 – 2 ปีกระจกตาก็จะยืดตัวกลับ ผลของการแก้ไขสายตายาวก็หายไป

6) การผ่าตัดใส่วงแหวนที่ตาขาว (Scleral Expansion)

การผ่าตัดใส่วงแหวนที่ตาขาว (Scleral Expansion) เป็นการผ่าตัดเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อวงแหวนตาหดตัว วิธีนี้อาจมีผลแทรกซ้อนอาจทำให้ตาอักเสบ เคืองตาได้

7) การใส่เลนส์เสริมแก้ปัญหาสายตายาว (Implantable Collamer Lens: ICL)

การใส่เลนส์เสริมแก้ปัญหาสายตายาว (Implantable Collamer Lens: ICL) เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการแก้ปัญหาสายตาสั้น เอียง และสายตายาวแต่กำเนิด เป็นการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมระหว่างม่านตาและเลนส์แก้วตา โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้แบนหรือบางลง เลนส์เสริมทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับดวงตาจึงไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน และไม่ทำให้เกิดการอักเสบ ช่วยให้มองเห็นได้คมชัด ลดการเกิดแสงแตกกระจายในตอนกลางคืน และสามารถถอดเลนส์เสริม ICL ออกได้ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต อาทิ เลนส์เสริมแก้ไขปัญหาสายตายาวตามอายุ หรือเลนส์แก้วตาเทียม เป็นต้น

ทั้งนี้การรักษาแต่ละวิธีเหมาะกับสภาพดวงตาและการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสายตายาวควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อพิจารณาว่าการรักษาชนิดใดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับตนเองมากที่สุด


สายตายาวตามวัยแก้ได้ด้วย FemtoLASIK Presbyond

ดูแลดวงตาให้แข็งแรง

เนื่องจากสายตายาวไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีวิธีที่จะช่วยปกป้องดวงตาและการมองเห็นของเราด้วยวิธีง่าย ๆ คือ

  • สูตรพักสายตา 20 : 20 : 20  หลังจากทำงานไปแล้ว 20 นาที ลองพักสายตาด้วยการมองไกลออกไป 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อถนอมดวงตาและช่วยป้องกันอาการตาล้า ตามัว ตาแห้งที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สายตามากเกินไป
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบความสามารถในการมองเห็น และตรวจสอบว่ามีความผิดปกติใดเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่
  • เลือกแว่นตาที่เหมาะสมกับตนเอง และหมั่นทดสอบสายตาเป็นประจำ เพื่อตรวจเช็กว่าแว่นตาที่ใช้อยู่มีความเหมาะสมหรือไม่
  • หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่ อาทิ ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัด ตามัว เห็นจุดดำ เห็นเป็นรังสีหรือรุ้งรอบ ๆ ดวงไฟ เป็นต้น หากพบอาการต่าง ๆ ควรพบแพทย์
  • ปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์หรือรังสีอัลตราไวโอเลต UV ด้วยการสวมแว่นตากันแดด เมื่ออยู่กลางแจ้งหรือต้องสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ต้องใช้ยาที่อาจส่งผลทำให้ไวต่อรังสี UV
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพดวงตา โดยเฉพาะผักใบเขียว ผักผลไม้สีอ่อน อาทิ ผักโขม ผักคะน้า แครอท มันเทศ แคนตาลูป เพราะมีส่วนช่วยรักษาสภาพจอประสาทตาให้ดี และช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะส่งผลร้ายต่อดวงตา โดยเฉพาะการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาได้
  • หากมีโรคประจำตัวอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
  • เปิดไฟให้มีแสงสว่างที่พอเหมาะในการอ่านหนังสือ ช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น ตาไม่ต้องเพ่งมากจนเกินไป


สำหรับใครที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวตามอายุ การรักษาสายตาด้วย FemtoLASIK PRESBYOND อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การมองใกล้และไกลดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสายตายาวตามวัยและส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เลสิก
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์ - เสาร์ 08.00 - 17.00 น.
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์