รักมากไป ทำร้ายลูกไม่รู้ตัว

5 นาทีในการอ่าน
รักมากไป ทำร้ายลูกไม่รู้ตัว

แชร์

ศาสนาพุทธสอนให้เดินสายกลางในการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ ก็ตาม ไม่มากไม่น้อย ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไปนัก ในเรื่องความรักก็เช่นกัน พ่อแม่ที่รักลูกมากเกินไปกางปีกปกป้องลูกในทุกเรื่องราวจนเกินพอดี เด็กบางคนเกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แต่กลับมีปัญหาในชีวิตเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น เอาแต่ใจตนเอง ไม่สนใจใคร คิดเองไม่เป็น เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง บางรายถึงกับติดยาเสพติด นี่เป็นภาวะที่เรียกว่า สำลักความรัก พ่อแม่ปรนเปรอลูกมากเกินไปจนกลายเป็นรังแกลูกโดยไม่รู้ตัว เข้าข่ายพ่อแม่รังแกฉัน

2
เด็กทุกคนสมควรได้โอกาสในการดำเนินชีวิตของตนเอง อย่าตัดปีกของลูกทิ้ง เพียงเพราะข้างนอกมีพายุ จงปล่อยให้เขาโผบินสู่ใจกลางพายุด้วยหัวใจนักผจญภัย ขณะที่คุณต้องไม่ลืมเช่นกันว่าตัวคุณเองก็ยังต้องออกบิน ลูกของคุณก็เช่นกัน ตัวคุณและเราทุกคนต่างมีชีวิตเป็นของตนเอง

จงภูมิใจในความเป็นพ่อแม่ของคุณที่เลี้ยงลูกได้มีใจอารีเห็นอกเห็นใจ สุภาพน่ารัก ไม่เห็นแก่ตัว ช่วยเหลือตัวเอง และแบ่งปันคนอื่นบ้าง ไม่ว่าลูกของคุณจะเรียนเก่งหรือเรียนไม่เอาไหน จะเป็นคนรวยหรือคนจน เป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือเป็นคนธรรมดา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คุณค่าของความเป็นพ่อแม่ของท่านลดลงหรือเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

3
ปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับลูก

การเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย พ่อแม่ต้องดูแลตั้งแต่ลูกยังเล็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต มีความรับผิดชอบ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เข้าสังคมได้ดี การปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีแก่เด็กเป็นส่วนสำคัญที่จะพาให้ลูกของคุณประสบความสำเร็จ

ธรรมชาติของเด็กมักเลียนแบบผู้ใหญ่อยู่เสมอ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กเสมอ เช่น ถ้าต้องการให้ลูกกินผัก เราต้องกินผักเป็นตัวอย่าง ถ้าอยากให้ลูกออกกำลังกาย เราก็ต้องออกกำลังกายเป็นตัวอย่างให้ลูกดู หรืออยากให้ลูกชอบอ่านหนังสือก็ต้องอ่านหนังสือเป็นตัวอย่างให้กับลูก เพราะเด็กเรียนรู้ได้ดีจากการเลียนแบบ และควรที่จะเริ่มสร้างลักษณะนิสัยที่ดีเมื่อลูกของคุณยังอายุน้อย ที่สำคัญอย่าใช้วิธีต่อรองกับลูกโดยใช้อาหารและของเล่น เพราะนั่นจะเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับลูกของคุณ แต่ควรให้เวลาพูดคุยขัดเกลาจิตใจกับลูก ให้รางวัลแก่ลูก การให้รางวัลแก่เด็กจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการในเชิงบวก แต่แทนการให้รางวัลแก่ลูกโดยให้เล่นเกมหรืออนุญาตให้ดูทีวี ควรใช้เวลาว่างด้วยกันเป็นสิ่งที่มีค่าและจะอยู่ในความทรงจำของลูกตลอดชีวิต เช่น ไปเล่นกีฬาด้วยกัน ไปเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน ให้ลูกวางแผนการทำกิจกรรมที่สนุกด้วยกันตลอดทั้งวัน หรือเป็นสิ่งของที่ลูกอยากได้ ทำให้ลูกได้มีความคิดริเริ่มในการทำกิจกรรมดี ๆ กับครอบครัวต่อไป

พ่อแม่ควรสอนลูกไปในทางเดียวกัน ขณะที่แม่สอนพ่อต้องไม่โอ๋หรือห้าม จะทำให้เด็ก ๆ สับสนว่าจะเชื่อใครดี ดังนั้นพ่อแม่ควรแบ่งบทบาท เรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นหน้าที่ของแม่ เรื่องใหญ่ที่ต้องตัดสินใจให้พ่อดูแล พ่อแม่ที่อารมณ์มั่นคงมักจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูก

ชื่นชมต่อความพยายาม คำชมเป็นแรงจูงใจ หากต้องการสร้างแรงจูงใจให้กับลูก เริ่มต้นโดยการสร้างจุดสนใจเกี่ยวกับความพยายามของลูก ส่วนใหญ่พ่อแม่มักชมที่ผลลัพธ์มากกว่าความพยายามของลูก เช่น เมื่อลูกวาดการ์ตูนมาให้พ่อแม่ดู อย่าพูดแต่เพียงว่าสวยจังเท่านั้น แต่ให้เราชมรูปที่ลูกวาดเกี่ยวกับความพยายามในการวาดรูปแทน เพราะการชมที่เฉพาะเจาะจงจะสร้างกำลังใจให้ลูกมากกว่าผลลัพธ์ ไม่เปรียบเทียบกับผลงานของลูกกับคนอื่น

อย่าใช้อารมณ์กับลูก ถ้าต้องการจะบอกลูกให้ทำอะไรบางอย่าง หรือลงโทษให้ลูกของเราสงบ เด็กจะเรียนรู้การจัดการกับอารมณ์ของเขาโดยการเฝ้ามองเรา ดังนั้นจะต้องทำเป็นตัวอย่างและทำอย่างสม่ำเสมอ ถ้ารู้ว่าอารมณ์ไม่ดี อย่าสอนตอนนั้น เด็กจะกลัวและทำตามเพราะกลัวไม่ใช่เพราะเข้าใจในสิ่งที่สอน เมื่อลูกกลัวก็จะมีแนวโน้มโกหกมากขึ้น

การสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูกยังมีเทคนิคอีกมากมาย การที่ลูกเป็นคนที่ดีย่อมจะเป็นที่รักกับคนในสังคม ควรสร้างนิสัยที่ดีให้ติดตัวลูกไปตลอดชีวิต โดยจะต้องเริ่มปลูกฝังสิ่งที่ดีให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็กเพื่อจะติดตัวลูกไปในอนาคต

4

เลี้ยงลูกให้น่ารักกับคนอื่นด้วย

อย่าเลี้ยงลูกแบบให้ความรักจนเกินพอดี ให้มากไปลูกอาจไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ก็สำลักความรัก และกลายเป็นเด็กไม่น่ารักสำหรับใคร ๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะมีแต่คนระอาไม่อยากคบหา ถึงวันนั้นเราจะเสียใจเพราะสายเกินไปที่จะแก้ไขได้ ควรเลี้ยงลูกสายกลางทั้งรักและหวังดี ถูกผิดว่าไปตามเนื้อผ้า ทำผิดก็มีการลงโทษตามสมควร จะตีบ้างนาน ๆ ทีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อย่ากลัวลูกเสียใจ อย่ากลัวลูกไม่รัก

กฎกติกาต้องชัดเจน ปฏิบัติได้ และเข้าใจง่าย ถ้าลูกโตพอ บางเรื่องก็ควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาภายในบ้านด้วย กฎกติกาต้องมีเหตุผล เหมาะสมกับวัยของเด็กที่จะปฏิบัติได้ ไม่บังคับให้เด็กทำตามความต้องการของพ่อแม่ ควรสร้างทางเลือกเพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือกหรือตัดสินใจด้วยตนเองตามวัยของลูก เมื่อวางกฎกติกาแล้ว ต้องใช้และยึดถืออย่างสม่ำเสมอ สร้างขั้นตอนของการทำโทษเมื่อผิดกฎกติกา เริ่มจากเตือนทันทีเมื่อลูกทำผิดกฎ หรือกำหนดบทลงโทษเป็นขั้นตอน โดยต้องรับรู้ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกตั้งแต่แรก เมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎกติกาที่วางไว้ พ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของตัวเองก่อน ถ้ากรณีที่ลูกไม่เชื่อฟัง ต้องมีเทคนิคในการลงโทษลูกที่เหมาะสมกับวัยด้วย

5

ดุลูกให้ได้ผล

ในการดุหรือตำหนิลูกของพ่อแม่นั้นก็หวังเพื่อให้ลูกได้รับรู้และตระหนักในความผิด ความไม่ถูกต้องจากพฤติกรรมของตัวเอง เกิดการเรียนรู้และแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ แต่การตำหนิลูกไม่ถูกวิธี อาจทำให้ลูกสูญเสียความเชื่อมั่นและคุณค่าในตัวเอง เป็นปมขัดแย้งในใจ เกิดพฤติกรรมต่อต้าน สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกแย่ลงได้

ทุกครั้งที่พ่อแม่ดุลูกไป เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่จะรู้สึกไม่สบายใจ แต่ถึงอย่างไรในการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีได้นั้น ก็ต้องยึดหลักที่ว่า ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด เมื่อลูกเผลอทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องคอยตักเตือนและชี้ทางที่ถูกที่ควรเพื่อให้เขาปรับปรุงตัว และเมื่อดุไปแล้ว หากอยากจะปลอบโยนลูก หรือขอโทษที่เสียงดังหรือเผลอกระทำลงไม้ลงมืออะไรไปก็สามารถทำได้ ต้องให้ความสำคัญกับวิธีการดุลูกและการปลอบลูกด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วลองดูวิธีดุลูกอย่างเหมาะสมว่าพ่อแม่ควรดุลูก หรือทำอย่างไรเพื่อให้ลูกรับรู้และเชื่อฟังในความผิดของตนเอง

นักจิตวิทยาแนะนำว่า พ่อแม่ต้องปรับใจเป็นกลาง เพราะเด็ก ๆ ทุกคนมีโอกาสทำผิดกันได้ทั้งนั้น ประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กยังน้อย จะให้เก่งรู้เรื่องไปหมดคงเป็นไปไม่ได้ ตอนเราเป็นเด็กยังเคยทำผิดมาก่อน อย่าเพิ่งอคติตั้งแง่กับลูกตั้งแต่เริ่มต้น รับฟังเหตุผลในมุมมองของลูก อย่าเพิ่งไปมองว่าลูกโกหก หรือแก้ตัวน้ำขุ่น ๆ การที่เราสอดแทรก เปิดฉากดุว่าทันที และไม่เปิดใจรับฟังลูกจะคิดว่าเราไม่มีเหตุผล และจะไม่อยากอธิบายหรือเล่าให้เราฟังอีกในครั้งหลัง ๆ ยิ่งทำให้ลูกต่อต้านหนักกว่าเดิมได้ ควรดุลูกที่การกระทำ ไม่ใช่ที่ตัวลูก เช่น ลูกพูดคำหยาบในบ้าน ควรตำหนิว่า “แม่ไม่ชอบที่ลูกพูดคำหยาบแบบนั้น” ไม่ควรตำหนิว่า “ลูกแย่มากที่พูดแบบนั้น” เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่แสดงออกมาภายนอกเมื่อพ่อแม่ตำหนิที่พฤติกรรมการกระทำของลูก ก็หมายความว่าสิ่งนั้น ๆ ที่ลูกทำไป คือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ ไม่ยอมรับ ซึ่งไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ไม่ยอมรับในตัวตนของลูก และพ่อแม่เองก็ยังรักลูกเหมือนเดิม แต่การดุด่าหรือตำหนิที่ตัวลูกโดยตรง เช่น ลูกแย่มาก ลูกไม่ได้เรื่อง โง่ น่าเกลียด ฯลฯ การกระทำของพ่อแม่แบบนี้ จะทำให้ลูกมองตัวตนของตัวเองว่าแย่ไปด้วย และนั่นจะไปลดทอนความมีคุณค่าในตัวเองของลูกลง จนสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง และอย่าดุต่อหน้าคนอื่นจะทำให้ลูกเสียหน้า

ถามความคิดเห็นของลูก เมื่อลูกทำผิดอย่ารีบเผลอไปตำหนิ หรือดุด่าว่ากล่าวแบบทันควัน แต่ให้พ่อแม่ใช้วิธีพูดคุย ถามว่าถ้าเกิดกระทำผิดซ้ำจะให้มีวิธีตักเตือนหรือลงโทษอย่างไร ให้ลูกได้คิดถึงผลเสีย วิธีแก้ และการรับผิดชอบในความผิดนั้น ๆ การลงโทษทุกครั้งลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ว่าการลงโทษของพ่อแม่เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์โกรธหรือความรัก ถ้าลงโทษด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือระงับโทสะไม่ได้ ผลเสียที่จะตามมานั้นอาจจะทำให้กลายเป็นภาพฝังใจประทับตรึงใจลูกไปตลอดชีวิตก็เป็นได้


การเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องดูแลตั้งแต่ลูกยังเล็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต มีความรับผิดชอบ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้เข้าสังคมได้ดี การปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีแก่เด็กเป็นส่วนสำคัญที่จะพาให้ลูกประสบความสำเร็จ


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แชร์