เนื้องอกลำไส้ตรง รักษาอย่างไร? ไม่ต้องมีถุงหน้าท้อง

3 นาทีในการอ่าน
เนื้องอกลำไส้ตรง รักษาอย่างไร? ไม่ต้องมีถุงหน้าท้อง

แชร์

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าอาการเลือดออกจากทวารหนักสามารถบ่งบอกว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoid) หรืออาจเป็นเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ก็เป็นได้ เพราะทั้งสองโรคนี้มีความคล้ายคลึงกันมากจนบางครั้งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน ดังนั้นการใส่ใจและรู้เท่าทันเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) จะช่วยให้สามารถรับมือได้อย่างถูกวิธี

 

รู้จักลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าลำไส้ตรง (Rectum) คือ บริเวณที่มีความยาวประมาณ 6 นิ้วสุดท้ายของลำไส้ใหญ่ โดยต่อกับทวารหนัก (Anal Canal) ลำไส้ตรงมีหน้าที่เก็บของเสียที่เหลือจากการดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย ก่อนที่จะขับออกเป็นอุจจาระทางทวารหนัก 

 

เนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย)

เนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) คือ การเกิดก้อนขึ้นในตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ซึ่งในบางกรณีก้อนอาจมีตำแหน่งใกล้กับทวารหนัก (Anal Canal) ส่งผลให้การรักษามีความซับซ้อน และต้องอาศัยความชำนาญของทีมแพทย์ผู้ให้การรักษามากขึ้นเป็นพิเศษ 

ทั้งนี้ทวารหนักเป็นอวัยวะหลักในการควบคุมการขับถ่ายของเสียหรืออุจจาระและเป็นอวัยวะสำคัญอันประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก การตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ในตำแหน่งที่ใกล้กับทวารหนัก อาจนำไปสู่การผ่าตัดรักษาที่จำเป็นต้องตัดเอาทวารหนักออกไปด้วยเพื่อให้สามารถตัดก้อนเนื้องอกออกได้หมด ในกรณีเช่นนี้ผู้ป่วยจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่ภายหลังการผ่าตัด โดยต้องถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (Colostomy) หรือมีถุงทางหน้าท้องแทนการถ่ายอุจจาระทางทวารหนักตามปกติ

 

เนื้องอกลำไส้ส่วนตรง

 

อาการต้องสังเกต

ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) อาจแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น 

  • ถ่ายมีเลือดสดปนกับอุจจาระ 
  • ก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด หากเป็นมาก
  • ท้องผูกสลับกับท้องเสีย 
  • ปวดท้องน้อย 
  • อ่อนเพลีย 
  • น้ำหนักลด 

 

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมาก เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งการวินิจฉัยที่เหมาะสมประกอบไปด้วย

  • ตรวจลำไส้ใหญ่อย่างละเอียดโดยการส่องกล้องกับแพทย์ผู้ชำนาญการ 
  • ตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์โรค 
  • ประมาณระยะของโรคทางคลินิกด้วยภาพถ่ายรังสี
  • ประมวลผลการตรวจและการวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์สหสาขา ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็ง และพยาธิแพทย์ 

 

เนื้องอกลำไส้ส่วนตรง

 

รักษาเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) 

การรักษาเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) โดยทีมแพทย์สหสาขา ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็ง และพยาธิแพทย์  ด้วยยา และเครื่องมือทันสมัย ร่วมกับเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาติ่งเนื้อหรือเนื้องอกลำไส้ใหญ่ส่วนปลายแบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ไม่เพียงเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ยังช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย เพราะการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มโอกาสการเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักได้มากขึ้น ภายหลังการรักษาผู้ป่วยสามารถถ่ายอุจจาระทางทวารหนักได้และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ 

ทั้งนี้รายงานจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์ชั้นนำของโลกระบุว่า เคล็ดลับความสำเร็จในการรักษาเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ไม่ได้เพียงแต่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาในทุกมิติเท่านั้น การร่วมมือกันของแพทย์ผู้ชำนาญการและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะการร่วมกันวิเคราะห์โรคและสรุปแนวทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมแบบสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร อายุรแพทย์มะเร็ง รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา พยาธิแพทย์ จะทำให้ได้แผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย 

 

อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การให้การรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษา อาจลดอัตราการผ่าตัดเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ที่จะต้องมีการถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (Colostomy) ได้ ทั้งนี้การใช้เทคนิคการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักผู้ชำนาญการเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่น่าพอใจ 

การพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดรักษาเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) โดยใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS หรือ Minimally Invasive Surgery) ด้วยการผ่าตัดแผลเล็ก เทคนิคเก็บกล้ามเนื้อหูรูด ไร้ถุงหน้าท้องถาวร จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังการผ่าตัด เจ็บน้อย และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับศูนย์การแพทย์ที่มีความพร้อมระดับสากลอาจจำเป็นต้องมีทีมศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องแบบสหสาขาวิชาชีพเพื่อความพร้อมในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) ที่มีการลุกลามของโรคไปในอวัยวะสำคัญอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่น่าพอใจ

 

ทั้งนี้หากสังเกตเห็นเลือดออกจากทวารหนักต้องตื่นตัวและรีบเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสมโดยศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง หากพบว่ามีเนื้องอกลำไส้ส่วนตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย) จะได้ทำการรักษาทันทีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

Colorectal Polyps


สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคาร D ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์