IVF & ICSI ยากแค่ไหนก็มีลูกได้

5 นาทีในการอ่าน
IVF & ICSI ยากแค่ไหนก็มีลูกได้

แชร์

หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยจากคู่สมรสที่กำลังเริ่มทำเด็กหลอดแก้วคือ ทำแล้วจะท้องในครั้งแรกเลยหรือเปล่า ถ้าเลือกตัวอ่อนที่ใส่กลับเด็กที่เกิดมาจะสมบูรณ์แข็งแรงร้อยเปอร์เซ็นต์ใช่ไหม ซึ่งการจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ต้องย้อนกลับไปที่ความรู้พื้นฐานจากการตกไข่ การปฏิสนธิของตัวอ่อน จนกระทั่งถึงการคลอด แล้วนำมาเปรียบเทียบกับขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วว่าแตกต่างอย่างไรกับขั้นตอนตามธรรมชาติ


การตกไข่

ใน 1 เดือนจะมีไข่ตก 1 ใบ และไข่ 1 ใบนี้มีโอกาสที่โครโมโซมจะแบ่งครึ่งมาพอดีหรืออาจจะไม่พอดีก็ได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะทำการกระตุ้นไข่จำนวนมากเท่าที่สภาพร่างกายมีในรอบเดือนเดียว ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเป็น 10 – 15 ใบต่อ 1 รอบการกระตุ้น โดยยาฮอร์โมนกระตุ้นไข่ไม่ต่างจากฮอร์โมนกระตุ้นไข่จากร่างกายตามปกติ ดังนั้นโครโมโซมในไข่จึงไม่แตกต่างจากการตกไข่ตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มีความสมบูรณ์ทุกใบ แต่สิ่งที่ได้เปรียบก็คือ เหมือนนำไข่ 10 เดือนมาตกพร้อมกันในเวลาเพียงแค่เดือนเดียว


การปฏิสนธิของตัวอ่อน

เมื่อนำไข่มาปฏิสนธิภายนอกร่างกายจะสามารถมองเห็นได้ว่า ไข่ใบใดสามารถปฏิสนธิได้ตามปกติ และไข่ใบใดมีความผิดปกติไม่สามารถไปต่อได้ ยกตัวอย่างเช่น การไม่ปฏิสนธิหรือปฏิสนธิแล้วแต่แบ่งเซลล์ช้ากว่าปกติ ดังนั้นเมื่อเลี้ยงตัวอ่อนผ่านไป 5 วัน ไข่จะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จนกลายเป็นตัวอ่อนที่โตขึ้นเรื่อย ๆ เสมือนเป็นขั้นตอนการคัดเลือก ทำให้ได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่จะเลือกใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก ส่วนไข่และตัวอ่อนที่โตไม่ทันเพื่อนจะถูกตัดทิ้งไป ซึ่งจากไข่ 10 ใบอาจจะเหลือตัวอ่อนคุณภาพดีที่เลือกใส่กลับเข้าไปเพียงแค่ 3 หรือ 4 ตัวเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นคำตอบว่า การใส่ตัวอ่อน 1 ครั้ง ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าการกระตุ้นไข่และฉีดเชื้อผสมเทียม ซึ่งมีไข่ตกเพียงแค่ 1 หรือ 2 ใบ


IVF & ICSI ยากแค่ไหนก็มีลูกได้
IVF & ICSI

นอกจากนี้ในขั้นตอนการปฏิสนธิจะต่างจากขั้นตอนตามธรรมชาติ เพราะการทำเด็กหลอดแก้วจะมีการปฏิสนธิ 2 รูปแบบ ได้แก่

1) การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – In Vitro Fertilization) จะนำไข่และเชื้ออสุจิมาปฏิสนธินอกร่างกาย โดยจะใช้ตัวอสุจิที่คัดแล้วปล่อยลงไปล้อมรอบไข่ให้ตัวอสุจิแข่งกันเจาะเข้าไปในเปลือกไข่ด้วยตัวเอง วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมือนธรรมชาติ การปฏิสนธิจะเกิดในท่อนำไข่ เมื่อไข่วิ่งเข้ามาในท่อนำไข่จะมาพบกับตัวอสุจิที่ว่ายมาบริเวณนี้เช่นกันเข้าไปล้อมรอบไข่และตัวอสุจิตัวแรกที่เจาะผ่านเปลือกไข่ได้จะทำให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อไป

กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – In Vitro Fertilization) แพทย์จะตรวจความพร้อมก่อนกระตุ้นไข่ช่วงวันที่ 2 – 3 ของการมีประจำเดือน จากนั้นจะฉีดยาทางหน้าท้องเพื่อกระตุ้นไข่ประมาณ 8 – 14 วัน เมื่อได้ไข่ตามที่ต้องการจะฉีดยากระตุ้นไข่ตกและนัดวันเก็บไข่ ส่วนคุณผู้ชายต้องทำการเก็บน้ำเชื้ออสุจิสำหรับทำ IVF เมื่อไข่และอสุจิปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อนและเพาะเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดีเพื่อให้ตัวอ่อนเติบโตได้ดีเต็มศักยภาพ คุณผู้หญิงจะต้องมาย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกหลังเก็บไข่ 3 – 5 วัน แพทย์จะนัดติดตามและตรวจเช็กเลือดเพื่อดูฮอร์โมนการตั้งครรภ์หลังใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยประมาณ 10 วัน

2) การทำอิ๊กซี่ (ICSI – Intracytoplasmic Sperm Injection) จากปัญหาตัวอสุจิของคุณผู้ชายบางคนมีความผิดปกติจนไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่ได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวิธีใช้เข็มเจาะและส่งตัวสุจิที่ดีที่สุดผ่านเปลือกไข่เข้าไปภายในเนื้อไข่โดยตรงในเวลาต่อมา โดยจะมียาฮอร์โมนช่วยกระตุ้นให้ได้ไข่หลายใบ วิธีนี้มีขั้นตอนคล้ายการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) แต่แตกต่างตรงที่ IVF ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งอสุจิจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ แต่ ICSI จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงที่สุดตัวเดียว แล้วใช้เข็มฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง

ดังนั้นหากคู่สมรสสามารถกระตุ้นและเก็บไข่ได้ 10 ใบ แต่เมื่อส่งสเปิร์มเข้าไปปฏิสนธิด้วยวิธี IVF พบว่าได้ตัวอ่อนเพียง 1 หรือ 2 ใบ หรืออาจไม่ได้เลย การแก้ไขโดยใช้การปฏิสนธิโดยวิธี ICSI มักจะช่วยในการปฏิสนธิให้ได้ตัวอ่อนขึ้นมาเป็น 7 – 9 ตัว แต่อย่างไรก็ตามการเลือกตัวอสุจิที่จะยิงเข้าไปในไข่จะเลือกจากรูปร่างและการเคลื่อนไหวที่ดีที่สุด โดยหัวอสุจิจะมีขนาดเพียง 7 ไมครอน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมองเห็นโครโมโซมที่อยู่ภายในนั้น และในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเห็นโครโมโซมที่อยู่ภายในไข่ตอนที่จะยิงตัวอสุจิเข้าไปด้วย ดังนั้นการทำ ICSI จึงไม่ใช่การสร้างตัวอ่อนที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้มีการปฏิสนธิและเกิดตัวอ่อนขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อให้ได้มีโอกาสคัดเลือกที่ดีที่สุด

กระบวนการทำอิ๊กซี่ (ICSI – Intracytoplasmic Sperm Injection) แพทย์จะกระตุ้นไข่ในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน โดยจะฉีดต่อเนื่องประมาณ 8 – 14 วัน จากนั้นเมื่อไข่พร้อมจะฉีดยากระตุ้นการตกไข่ ทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจขนาดและจำนวนถุงไข่ แล้วจึงฉีดฮอร์โมนก่อนที่จะเก็บไข่ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดออกจากรังไข่ผ่านทางช่องคลอด จากนั้นแพทย์จะนำไข่และอสุจิไปปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการพร้อมกับการให้ยาฮอร์โมนเพื่อเตรียมมดลูกคุณผู้หญิงให้พร้อมตั้งครรภ์ หลังจากตัวอ่อนเติบโตแข็งแรง แพทย์จะนัดฉีดตัวอ่อนให้เข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด


ข้อควรปฏิบัติก่อนการเจาะเก็บไข่

  1. ทำจิตใจให้สบาย หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลและความเครียด หากิจกรรมอะไรที่ทำให้ลดความกังวลลงได้
  2. ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก หรือมีการกระเทือนร่างกายมาก เช่น วิ่ง กระโดด เนื่องจากรังไข่ที่ได้รับการกระตุ้นมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อมีการกระเทือนมากอาจทำให้เกิดอาการปวดหรือมีการบิดหมุนของรังไข่ได้
  3. งดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนการเจาะเก็บไข่
  4. หากมีโรคประจำตัวแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  5. ต้องมีสามีหรือญาติมารับกลับบ้าน ไม่แนะนำให้ขับรถกลับเองหรือกลับรถสาธารณะตามลำพัง เพราะการเจาะเก็บไข่จะมีการดมยาให้ผู้ป่วยหลับ อาจจะทำให้ยังง่วงและยังสะลืมสะลือหลังการทำหัตถการ ทำให้มีอันตรายจากการขับรถได้
  6. เก็บของมีค่าไว้ที่บ้าน เช่น แหวน สร้อย นาฬิกา ฯลฯ
  7. ไม่ควรทาสีเล็บหรือใส่น้ำหอม เพราะจะเป็นการรบกวนไข่หรือตัวอ่อน เนื่องจากตัวอ่อนบอบบาง ไม่ชอบสีหรือกลิ่น
  8. สามีควรเตรียมตัวมาเก็บน้ำเชื้ออสุจิในวันเดียวกัน โดยงดมีเพศสัมพันธ์ 3 – 7 วันก่อนเก็บน้ำเชื้อ

การปฏิบัติตัวหลังเจาะเก็บไข่

  1. หลังการเจาะเก็บไข่จะมีอาการปวดท้องเล็กน้อยเหมือนปวดประจำเดือนและอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยหรืออาจมีเลือดออกภายใน 24 ชั่วโมง แนะนำให้สังเกตอาการและรับประทานยาแก้ปวดทุก 4 – 6 ชั่วโมงตามที่แพทย์สั่ง อาการปวดท้องจะหายไปใน 2 – 3 วัน ส่วนในรายที่มีจำนวนไข่มากควรพักผ่อนและมีกิจกรรมให้น้อยที่สุดในช่วง 2 – 3 วันหลังเก็บไข่ เพื่อรอให้ขนาดรังไข่ยุบลงพอสมควรจะทำให้ลดอาการปวดท้องน้อยหลังเก็บไข่ได้ดี
  2. กรณีที่มีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ หลังการเจาะเก็บไข่ โปรดปรึกษาศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเพื่อขอคำแนะนำหรือแพทย์เจ้าของไข้ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากแพทย์เจ้าของไข้จะทราบประวัติและรายละเอียดการรักษา ทำให้สามารถรักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
  3. กรณีที่มีปัญหาในการใช้ยาหรือแพ้ยาควรติดต่อขอคำแนะนำจากศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากหรือแพทย์เจ้าของไข้
  4. ในวันถัดไปหลังการเก็บไข่ เจ้าหน้าที่ของศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะเป็นผู้ติดต่อแจ้งให้ท่านทราบโดยละเอียด หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมของการปฏิสนธิของตัวอ่อนสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
  5. ให้เบอร์โทรศัพท์ที่สะดวกในการติดต่อกลับ หากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการรักษา ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะติดต่อกลับทันที
  6. เจ้าหน้าที่ของศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจะทำการนัดหมายวันและเวลาให้ท่านทราบโดยละเอียด หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากได้ในวันและเวลาทำการ

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ - เสาร์ เวลา 8.00 - 16.00 น.

แชร์