ความดันโลหิตสูงเสี่ยงโรคร้ายถามหา

2 นาทีในการอ่าน
ความดันโลหิตสูงเสี่ยงโรคร้ายถามหา

แชร์

ความดันโลหิตสูงหลายคนอาจมองว่าไม่น่าห่วง ทั้งที่ความจริงแล้วอันตรายอย่างมาก ไม่ว่าจะอายุน้อยหรืออายุมากก็มีโอกาสเป็นได้ ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นยิ่งเสี่ยงความดันโลหิตสูงมากขึ้น ที่น่าห่วงคือบางคนกว่าจะรู้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง ร่างกายก็มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงแล้ว จึงไม่ควรชะล่าใจและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติก่อนสายเกินไป

รู้จักความดันโลหิต

ความดันโลหิต คือ ค่าความดันเลือดที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อไหลเวียนนำออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย การวัดความดันโลหิตบ้าง แม้ไม่มีอาการอะไรช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยค่าความดันเลือด แบ่งออกเป็น

  1. ค่าความดันตัวบน เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว 
  2. ค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว

ความดันโลหิตสูงต้องรู้

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เกิดจากการที่ความดันเลือดสูงกว่าปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 ติดต่อกันเป็นเวลานาน มักไม่แสดงอาการ แต่ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิต หรือพิการอาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจหนา เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไตวาย เป็นต้น การรู้ตัวว่าความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระยะแรกนั้นสำคัญ ช่วยให้ควบคุมระดับความดันโลหิตและลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้


ความดันโลหิตสูงเสี่ยงโรคร้ายถามหา

เช็กระดับความดันโลหิตสูง

การวัดความดันโลหิตควรวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้งในภาวะที่ไม่รีบร้อนเพื่อให้มั่นใจว่าค่าความดันโลหิตไม่คลาดเคลื่อน

ค่าความดันตัวบน (มม./ปรอท)

ค่าความดันตัวล่าง (มม./ปรอท)

ระดับความดันโลหิต

<120

< 80

ปกติ

120 – 139

80 – 89

ภาวะก่อนความดันโลหิตสูง

140

90

ความดันโลหิตสูงขั้นที่ 1

160

100

ความดันโลหิตสูงขั้นที่ 2


ปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงพบได้ 1 ใน 5 ของคนไทย จากการที่เส้นเลือดมีความเสื่อมตามวัย เมื่อความดันเพิ่มขึ้น เส้นเลือดจะแข็งและกระด้างมากขึ้น นอกจากนี้หากมีปัจจัยกระตุ้นอย่างกรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารรสจัด ความเครียด การพักผ่อนน้อย ยิ่งเสี่ยงความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น


อาการเตือนความดันโลหิตสูง

  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้ายทอย
  • เวียนศีรษะ

ความดันโลหิตสูงเสี่ยงโรคร้ายถามหา

ดูแลรักษาความดันโลหิตสูง

หากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงยังมีอาการไม่มาก แพทย์เฉพาะทางจะเน้นในเรื่องการปรับพฤติกรรม อาทิ

  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 
  • กินอาหารสุขภาพ Dash Diet 
  • เน้นกินผักผลไม้
  • ลดหวาน มัน เค็ม
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮฮล์

นอกจากนี้การรักษาส่วนใหญ่แพทย์อาจให้รับประทานยาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคต


ออกกำลังให้ความดันไม่ขึ้น

การออกกำลังกายในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเน้นการเคลื่อนไหวมากกว่าการใช้แรงอย่างเดียว 150 – 200 นาทีต่อสัปดาห์ ไม่ควรยกน้ำหนักที่หนักมาก ๆ เพราะอาจความดันขึ้นสูงได้ ควรต้องระมัดระวังหรือปรึกษาผู้ชำนาญการ และควรมีวันพักให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อย่าออกกำลังกายแบบหักโหมจนเกินไป


หากรู้เร็วและรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ไวจะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ 35 – 40% ลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตัน 20 – 25% และลดการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้มากกว่า 50% จึงควรวัดความดันอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจเช็กร่างกายว่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ


สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

แชร์