ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีวเวชศาสตร์

3 นาทีในการอ่าน
ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีวเวชศาสตร์

แชร์

ตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพ หมายถึง การตรวจร่างกายและสภาวะจิตใจตามวิธีทางการแพทย์ เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจสัญญาณชีพ ตรวจร่างกาย ไปจนถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการ นำข้อมูลไปวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อวางแผนในการดูแลรักษาสุขภาพและติดตามอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป


ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง

อย่างไรก็ตามยังมีการตรวจสุขภาพอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการตรวจสุขภาพที่กฎหมายกำหนด นั่นคือ การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง (กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้าง ซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.. 2563) กล่าวคือ เมื่อลูกจ้างเข้ามาปฏิบัติงานในที่ทำงาน โดยที่ทำงานนั้นมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้าง นายจ้างจำเป็นต้องจัดการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมของสภาวะสุขภาพของลูกจ้างหรือกระทบต่อสุขภาพอันอาจเกิดจากการทำงานที่สัมผัสปัจจัยเสี่ยง


งานที่มีความเสี่ยง

งานที่มีความเสี่ยงคืองานที่ลูกจ้างทำเกี่ยวกับ

  1. สารเคมีอันตรายตามที่กฎหมายกำหนด ประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง กำหนดสารเคมีอันตรายที่ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง .. 2552 
  2. จุลชีวันเป็นพิษที่อาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือสารชีวภาพอื่น
  3. กัมมันตภาพรังสี
  4. ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง หรือเสียง
  5. สภาพแวดล้อมอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกจ้าง

ดังนั้นหากในที่ทำงานมีการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างถูกต้อง (Health Risk Assessment) พบว่ามีปัจจัยความเสี่ยงดังข้างต้นก็จำเป็นที่นายจ้างต้องจัดการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง


ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง

การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงสามารถตรวจได้ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน (Pre – Employment Examination) เป็นการตรวจสุขภาพก่อนที่โรงงาน/บริษัทจะจ้างคนทำงานนั้นเข้ามาทำงาน  เพื่อประเมินความพร้อมเบื้องต้นของลูกจ้าง
  • การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงาน/ก่อนการเปลี่ยนงาน (Pre – Placement Examination) ตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของลูกจ้างตามลักษณะงานที่ลูกจ้างต้องปฏิบัติ ความเสี่ยงที่ลูกจ้างอาจสัมผัส และใช้เป็นค่าพื้นฐานสำหรับเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้น
  • การประเมินความพร้อมในการทำงาน (Fitness to Work) ได้แก่
    • ตรวจก่อนเข้างาน (Pre – Placement Examination) รู้ตำแหน่งงานแล้ว ตรวจหลังเซ็นสัญญาจ้าง ภายใน 30 วัน
    • ตรวจประเมินความพร้อมกรณีเปลี่ยนงาน (Change Position) หรือตรวจประเมินความพร้อมในการทำงานพิเศษ (Fitness to Work for Special Job) เช่น
      • ประเมินความพร้อมสำหรับงานการทำงานในที่อับอากาศ (Confined Space)
      • ประเมินความพร้อมสำหรับการทำงานที่สูง (Work at Height)
      • ประเมินความพร้อมสำหรับการทำงานขับรถโฟค์ลิฟท์ (Forklift)
      • ประเมินความพร้อมสำหรับการทำงานขับปั้นจั่น (Cranes Operation)
      • ประเมินความพร้อมสำหรับการทำงานขับรถ (Fitness to Drive)
      • ประเมินความพร้อมสำหรับการทำงานผจญเพลิง (Fire Fighter)
      • ประเมินความพร้อมสำหรับการทำงานคนเดินเรือ (Seafarer)
  • การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงประจำปี (Periodic Examination) เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจตามปัจจัยเสี่ยงที่ได้รับจากการทำงาน (Health and Medical Surveillance)
  • การตรวจสุขภาพประเมินความพร้อมก่อนกลับเข้าทำงานหลังจากได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย (Return to Work Assessment) 
  • การตรวจสุขภาพก่อนออกจากงาน (Retirement Examination) ตรวจสุขภาพประเมินทราบสภาวะสุขภาพของลูกจ้างที่กำลังจะออกจากงาน

ซึ่งตามที่กฎกระทรวงได้ระบุผู้ที่สามารถตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงไว้ คือ แพทย์ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์หรือผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง เพื่อให้สามารถประเมินความพร้อมของสภาวะสุขภาพลูกจ้างในการทำงานได้


ศูนย์อาชีวอนามัย โรงพยาบาลกรุงเทพ ประกอบไปด้วยทีมแพทย์วุฒิบัตรเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องประเมินความเสี่ยงจากการทำงาน การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดจากงาน และวางแผนการตรวจสุขภาพอย่างเหมาะสม เราจึงพร้อมให้บริการด้านอาชีวอนามัยครบวงจร ตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์อาชีวอนามัย โรงพยาบาลกรุงเทพ
เฮลท์ดีไซน์เซ็นเตอร์ ชั้น 5 อาคาร R (Rehabilitation)
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.

แชร์