ภาวะการหกล้มในผู้สูงอายุ

2 นาทีในการอ่าน
ภาวะการหกล้มในผู้สูงอายุ

แชร์

วัยผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพมากมาย อาทิเช่น ภูมิต้านทานที่ลดลง ระบบอวัยวะที่เสื่อมลงตามอายุ เป็นต้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะล้มได้มากกว่าในวัยอื่น การป้องกันดูแลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

การล้มในผู้สูงอายุ

ภาวะการหกล้มเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตราย และพบบ่อยในผู้สูงอายุโดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบกับการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหัก พบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีกและบางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอดชีวิต ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองและต้องมีคนดูแลตลอดเวลา มีภาวะสับสน มีปัญหาการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าตามมา


ปัจจัยเสี่ยงการล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้มมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 2 ประการ คือ

  1. ปัจจัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจากการที่มีพยาธิสภาพจากอายุที่เพิ่มขึ้น
  2. ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การวางเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของเกะกะกีดขวางทางเดิน พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การใช้ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น

แนวทางป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

มีหลักฐานทางวิชาการมากมายที่ระบุการลดปัจจัยการหกล้มและการป้องกันการหกล้ม สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ การฝึกเดินที่ถูกต้อง รวมถึงการสวมรองเท้าที่เหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว
  2. การสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดี การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือเมื่อต้องใช้ยาควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  3. การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) ไม้เท้า ฯลฯ
  4. การปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การค่อย ๆ ลุกยืนอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตกในท่ายืนหรือหน้ามืด การหาราวสำหรับเกาะเดิน
  5. ประเมินการใช้ยา หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้มแนะนำให้ปรึกษาแพทย์
  6. ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น
          – มีวัสดุกันลื่นในห้องน้ำ
          – ไม่วางของระเกะระกะ
          – มีแสงสว่างเพียงพอ โดยเฉพาะตรงราวบันได
          – ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อย ๆ โดยปุ่มสวิตช์อยู่ใกล้มือเอื้อม
          – มีอุปกรณ์เครื่องเรือนบริเวณที่อยู่เท่าที่จำเป็นและต้องแข็งแรงมั่นคง อยู่สูงจากพื้นมองเห็นได้ง่าย ไม่ย้ายที่บ่อย ๆ
          – เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมมีความสูงพอเหมาะ ไม่เตี้ยเกินไป
          – ทางเดินและบันไดควรมีราวจับตลอดและขั้นบันไดสม่ำเสมอ
          – พื้นห้องสม่ำเสมอและเป็นวัสดุที่ไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ
          – บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน
          – หลีกเลี่ยงธรณีประตู
          – ไม่ควรมีสิ่งของเกะกะ เช่น พรมเช็ดเท้า สายไฟฟ้า


การหกล้มเป็นปัญหาสำคัญในผู้สูงอายุและส่งผลกระทบหลายด้าน ดังนั้นหากสามารถป้องกันการหกล้มได้จะก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในผู้สูงอายุ

ภาวะการหกล้มในผู้สูงอายุ


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ชั้น 3 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู (อาคาร R)

แชร์