แผลขอบทวาร แผลเล็กแต่เจ็บไม่ธรรมดา

3 นาทีในการอ่าน
แผลขอบทวาร แผลเล็กแต่เจ็บไม่ธรรมดา

แชร์

เมื่อเข้าห้องน้ำแล้วมีอาการถ่ายเจ็บ อาจมีเลือดออกซิบ ๆ ปวดมากน้ำตาแทบเล็ด บางคนรู้สึกไม่อยากเข้าห้องน้ำ บางคนคลำได้ติ่งเนื้อที่ก้น ทำให้ตกใจยิ่งกว่าเดิม กินยารักษาไม่ทุเลา ทั้งหมดนี้อาจกำลังบ่งบอกว่าคุณเป็นโรคยอดฮิตในกลุ่มคนท้องผูกแต่ชื่อโรคไม่คุ้นหูมากนักอย่างโรค  แผลขอบทวาร


รู้จักแผลขอบทวาร

โรคแผลขอบทวาร (Anal Fissure) เป็นโรคที่มีรอยแผลเกิดที่เยื่อบุบริเวณปากทวารหนักและอาจลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เป็นโรคที่พบบ่อย มีอาการคล้ายกับโรคริดสีดวงทวารหนัก อาจทำให้เข้าใจผิดและถูกละเลยได้ง่าย 


อาการแผลขอบทวาร

  • เจ็บบริเวณทวารหนักเวลาถ่ายอุจจาระแข็ง ๆ โดยมีอาการเจ็บแสบมากเมื่อเทียบกับขนาดแผลที่มีขนาดเล็ก อาจเจ็บและแสบหลังจากถ่ายได้อีกเป็นชั่วโมงในกรณีแผลลึก 
  • มีเลือดออกเป็นเลือดสดเล็กน้อย ติดกระดาษชำระ บางรายอาจมีเลือดออกมาก
  • มีติ่งหรือก้อนที่ขอบทวารหนัก
  • แสบ ๆ คันบริเวณทวารหนัก อาจมีกลิ่นผิดปกติ
  • ถ้าปวดมากอาจปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก

สาเหตุแผลขอบทวาร

ส่วนใหญ่โรคแผลขอบทวารเกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างรุนแรงจากอาการท้องเสียหรือท้องผูก ในรายที่แผลลึกอาจบาดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นใน และเกิดการอักเสบ กล้ามเนื้อหูรูดเกร็งส่งผลให้เลือดเข้ามาเลี้ยงแผลได้น้อย แผลหายยาก และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลขอบทวารชนิดเรื้อรัง (เป็นมานาน) อาจพบมีการบวมอักเสบจนกลายเป็นติ่งเนื้อ (Sentinel Pile) บริเวณขอบแผลได้ อย่างไรก็ตามติ่งเนื้อลักษณะคล้ายคลึงกันอาจพบได้ในสตรีหลังคลอดบุตร โรคมะเร็ง วัณโรค ซิฟิลิส ลำไส้อักเสบ เป็นต้น 


แผลขอบทวาร แผลเล็กแต่เจ็บไม่ธรรมดา

ตรวจวินิจฉัยโรคแผลขอบทวาร

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคแผลขอบทวารหนักได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคริดสีดวงทวารหนัก ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น การตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะพบแผลบริเวณขอบทวารซึ่งพบได้ทั้งตำแหน่งด้านหน้าและ/หรือด้านหลังของทวารหนัก ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยแยกโรค เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อสืบหาโรคร่วมอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือดหาการติดเชื้อซิฟิลิสหรือเชื้อเอชไอวีอาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย


รักษาแผลขอบทวาร

โรคแผลขอบทวารเป็นโรคที่พบบ่อยและไม่ควรละเลย หากปล่อยให้เป็นแผลนาน ๆ อาจเกิดภาวะ
ฝีคัณฑสูตรแทรกซ้อน หรือเกิดความกังวลเรื่องติ่งเนื้อ โดยอาจคิดว่าจะกลายเป็นเนื้อร้ายได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคแผลขอบทวาร ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง การรักษาแบ่งออกเป็นการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาด้วยการผ่าตัด

1) การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มต้น เป็นมาไม่นาน ได้แก่

  • ดื่มน้ำมาก ๆ วันละ 6 – 8 แก้ว 
  • รับประทานผักผลไม้มากขึ้น
  • รับประทานยาเพื่อแก้ภาวะท้องผูก ให้อุจจาระนิ่มขึ้น ลดการอักเสบ และอาการปวด
  • แช่ก้นด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที เพื่อลดอาการแสบ อาการปวด และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • ยาทาภายนอกบริเวณแผลเพื่อคลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • ฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) บริเวณกล้ามเนื้อหูรูดเพื่อคลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

2) การรักษาโดยการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลมานานเกิน 6 – 8 สัปดาห์ และได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาแล้วอาการไม่ทุเลา หรือกลับมามีอาการทันทีภายหลังการหยุดยา โดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูด (Lateral Internal Sphincterotomy) เป็นการผ่าตัดแบบใช้แผลขนาดเล็ก ประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นในส่วนที่หดเกร็งอักเสบและเก็บหูรูดทวารหนักชั้นนอกเอาไว้ ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ

  • ฉีดยาชาเฉพาะจุดหรือบล็อกหลังโดยไม่ต้องดมยาสลบ
  • ระยะนอนโรงพยาบาลสั้น ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับไปทำงานได้เร็ว
  • มีโอกาสหายขาดสูงถึง 95%
  • หากมีริดสีดวงทวารหนักด้วยสามารถแก้ไขพร้อมกันได้ในการผ่าตัดครั้งเดียว

แผลขอบทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย ความปวดทรมานนั้นไม่ธรรมดา การป้องกันท้องผูก ไม่รีบเบ่งถ่าย และหากพบว่ามีอาการควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาแผลขอบทวารตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแผลขอบทวารเรื้อรังควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกวิธี สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไวจะเพิ่มโอกาสการหายขาดได้ และไม่ต้องทนเจ็บทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำอีกต่อไป


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์