ปัสสาวะมีเลือดปนอย่าชะล่าใจ

2 นาทีในการอ่าน
ปัสสาวะมีเลือดปนอย่าชะล่าใจ

แชร์

รู้ไหมว่าโดยปกติแล้วในน้ำปัสสาวะของคนเรานั้นมีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ด้วย!

ตามหลักทางสรีรวิทยา โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีการขับเอาเม็ดเลือดแดงออกมาในน้ำปัสสาวะประมาณ 1,000,000 เซลล์ต่อวัน เมื่อนำน้ำปัสสาวะไปปั่นในห้องปฏิบัติการแล้วนำไปส่องใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายปานกลาง (HPF) จะพบเม็ดเลือดแดงประมาณ 1 – 3 เซลล์ ดังนั้นหากมีปริมาณเม็ดเลือดแดงเกิน 3 เซลล์จะถือว่าผิดปกติ ทั้งนี้ค่าเหล่านี้จะเชื่อถือได้ต้องมีวิธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน 


เตรียมผู้สูงวัยให้พร้อมตรวจสุขภาพประจำปี

เมื่อผู้สูงวัยมาตรวจสุขภาพประจำปี สิ่งที่ควรเตรียมตัวให้พร้อม คือ

  1. อาบน้ำและชำระล้างบริเวณอวัยวะเพศก่อนทำการเก็บปัสสาวะ หลีกเลี่ยงการทาแป้งบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องจากอาจจะทำให้ค่าที่ได้จากการตรวจปัสสาวะผิดพลาด
  2. หากกำลังมีประจำเดือน หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือมีการอักเสบติดเชื้อในทางนรีเวช ควรเลื่อนการตรวจออกไปก่อน เนื่องจากเลือดจากช่องคลอดอาจเข้ามาปนเปื้อนในน้ำปัสสาวะที่เก็บได้ ทำให้แปลผลได้ยาก
  3. ปัสสาวะช่วงแรกให้ทิ้งไปก่อน แล้วนำกระปุกมาตวงปัสสาวะช่วงกลางให้ได้ปริมาตร ประมาณ 10 – 15 มิลลิลิตร ส่วนปัสสาวะช่วงท้ายทิ้งไปในโถปัสสาวะ
  4. ปิดฝากระปุกเก็บปัสสาวะให้สนิทแล้วส่งตรวจภายใน 1 ชั่วโมง หากไม่สามารถส่งตรวจภายใน 1 ชั่วโมงได้ ควรเก็บปัสสาวะไว้ในอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส แต่ก็ควรส่งไปห้องปฏิบัติการไม่เกิน 24 ชั่วโมง

 

ภาวะเม็ดเลือดแดงปนเปื้อนในทางเดินปัสสาวะ

ภาวะการมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อนในทางเดินปัสสาวะ (Hematuria) หมายถึง การมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะมากกว่าเท่ากับ 3 เซลล์ขึ้นไป เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ขนาดกำลังขยายปานกลาง (HPF) โดยการวินิจฉัยที่ถูกต้องนั้นต้องพบความปกติดังกล่าวจากการเก็บปัสสาวะอย่างน้อย 2 ใน 3 ครั้ง ของการเก็บปัสสาวะส่งตรวจ โดยการเก็บปัสสาวะจะต้องเก็บอย่างถูกต้องตามวิธีข้างต้น 

จะเห็นได้ว่าในการตรวจครั้งแรกหากมีผลผิดปกติ ผู้ป่วยยังไม่ควรมีความกังวลไปก่อน เนื่องจากหากมีภาวะติดเชื้อ มีไข้ ได้รับอุบัติเหตุ หรือหลังออกกำลังกายอย่างหนัก อาจทำให้มีเม็ดเลือดแดงหลุดออกมาในปัสสาวะได้มากกว่าในสภาวะปกติ แต่เมื่อปัจจัยดังกล่าวหมดไป การตรวจปัสสาวะซ้ำในครั้งถัด ๆ ไปผลก็จะกลับมาเป็นปกติดังเดิม ดังนั้นควรมาตรวจซ้ำอีก 2 ครั้งตามแพทย์นัดเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจนต่อไป 

***ปริมาณเม็ดเลือดแดงที่ออกมาในปัสสาวะนั้น หากมีปริมาณไม่มากอาจไม่เห็นปัสสาวะเป็นสีแดง แต่ถ้าหากมีปริมาณมากจะทำให้เห็นปัสสาวะเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลได้ มีการประมาณว่าเลือดเพียง 1 ซีซีที่ออกมาในปัสสาวะสามารถทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดงได้


ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ

กรณีที่ผลตรวจพบว่าเม็ดเลือดแดงหลุดออกมาปนเปื้อนในปัสสาวะในปริมาณที่มากเกินค่าปกติ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรค โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติในจุดต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะ เช่น
  • มีไข้
  • ปวดท้องน้อย
  • ปวดบั้นเอว
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • มีตะกอนหรือมีฟองปน
  • คลำได้ก้อนในท้อง
  • บวม
  • ความดันโลหิตสูง
  • ฯลฯ
หรือในบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ผิดปกติเลย ซึ่งการตรวจพบภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อนในปัสสาวะโดยไม่แสดงอาการนั้นเป็นภาวะที่พบเจออยู่เรื่อย ๆ ในการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลอยู่ไม่น้อย  โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งมักมีความเสี่ยงในการเป็นโรคที่รุนแรงมากกว่าหนุ่มสาว

ดังนั้นควรหมั่นสังเกตลักษณะของปัสสาวะและอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะที่อาจเกี่ยวข้อง ถ้าหากพบความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ ทางที่ดีที่สุดควรมารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากมีความผิดปกติจะได้สามารถแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์
ชั้น 1 อาคาร R
เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 - 15.00 น.

แชร์