เด็กคลอดก่อนกำหนด ดูแลรักษาถูกวิธี พัฒนาการดีสมวัย

3 นาทีในการอ่าน
เด็กคลอดก่อนกำหนด ดูแลรักษาถูกวิธี พัฒนาการดีสมวัย

แชร์

เมื่อเด็กคลอดก่อนกำหนด พ่อแม่มักกังวลว่าพัฒนาการจะดีเหมือนเด็กปกติไหม ซึ่งพัฒนาการของเด็กขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งแม่และเด็ก อีกทั้งการดูแลเจ้าตัวน้อยและตรวจร่างกายอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ คือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เด็กคลอดก่อนกำหนดมีพัฒนาการได้ดีเทียบเท่าเด็กปกติ 

 

ปัจจัยเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดที่มีผลต่อพัฒนาการเติบโตของลูกน้อย

ปัจจัยเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดเกิดจากปัจจัยของแม่และปัจจัยของเด็ก ได้แก่

 

ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากแม่

ปัจจัยเสี่ยงเด็กคลอดก่อนกำหนดมาจากปัจจัยของแม่ก่อนคลอดเป็นหลัก ได้แก่

  • แม่คลอดก่อน 37 สัปดาห์ อายุครรภ์ยิ่งน้อย ปัญหายิ่งมาก ภาวะแทรกซ้อนยิ่งเยอะ
  • แม่อายุต่ำกว่า 16 ปี และแม่อายุมากกว่า 35 ปี
  • แม่เป็นไข้ ติดเชื้อ หรือมีน้ำเดินก่อนคลอดนานมากกว่า 18 ชั่วโมง
  • แม่ปากมดลูกสั้นอาจคลอดก่อนกำหนด
  • แม่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน ฯลฯ
  • แม่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาแล้ว
  • แม่ตกเลือดหรือครรภ์เป็นพิษ
  • แม่มีครรภ์แฝด
  • แม่มีความผิดปกติของมดลูก มดลูกมีผนังพังผืดกั้น หรือมีเนื้องอกมดลูก ทำให้เด็กโตไม่เต็มที่

 

ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากทารก

ปัจจัยเสี่ยงจากทารกก่อนคลอด ได้แก่

  • ทารกมีความพิการหรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด
  • ทารกเติบโตช้าในครรภ์ 

 

ผลกระทบเมื่อเด็กคลอดก่อนกำหนด

แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ โดยทั่วไปที่พบ ได้แก่

  • ขาดออกซิเจน หายใจลำบาก หยุดหายใจ
  • เลือดออกในโพรงสมอง 
  • ความเข้มข้นของเลือดต่ำ ซีด
  • ภาวะโรคปอดเรื้อรัง 
  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • จอประสาทตาเจริญเติบโตไม่ดี 
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีช่องเปิดระหว่างหลอดเลือดหัวใจใหญ่ทั้งสองเส้น (Patent Ductus Arteriosus – PDA) โดยปกติจะต้องปิดภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ปิดหัวใจจะทำงานหนัก มีโอกาสเกิดหัวใจวาย

 

คลอดก่อนกำหนด, เด็กคลอดก่อนกำหนด, ทารกแรกเกิด

 

ดูแลรักษาเด็กคลอดก่อนกำหนด

เมื่อเด็กคลอดก่อนกำหนด พ่อแม่จะต้องวางแผนร่วมกับทีมกุมารแพทย์ สูติ-นรีแพทย์ในการกำหนดขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมระหว่างการรักษาและหลังคลอดเพื่อให้เจ้าตัวเล็กมีสุขภาพแข็งแรงและพัฒนาการสมวัยในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • ด้านการหายใจ ทีมกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดจะทำการให้สารเคลือบปอดเพื่อให้หายใจได้เองเร็วขึ้นและลดระยะเวลาการใส่ท่อช่วยหายใจ โดยจะต้องรักษาออกซิเจนให้อยู่ในระดับปกติ ไม่สูงหรือน้อยเกินไป 
  • ด้านโภชนาการ มีการให้สารอาหารพิเศษทางเส้นเลือด ทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหารตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงเวลาที่เด็กเริ่มกินได้เอง ซึ่งการเริ่มให้สารอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้ทารกมีโภชนาการที่ดี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการให้เด็กมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นมแม่สำคัญมาก ช่วยลดอัตราการเกิดลำไส้อักเสบในทารกแรกเกิดได้ด้วย
  • ด้านหัวใจ มีการตรวจเช็กและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม โดยสามารถรักษาได้ด้วยยา หรือการผ่าตัดผูกเส้นเลือด ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำ 
  • ด้านสมอง แพทย์จะทำการอัลตราซาวนด์ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด 1 ครั้ง และก่อนกลับบ้าน 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็กความเสี่ยงภาวะเลือดออกในสมอง
  • ด้านดวงตา แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองดวงตา จอประสาทตาว่ามีความผิดปกติของเส้นเลือดจอประสาทตาหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะต้องทำการรักษาอย่างเหมาะสม
  • ด้านกระดูก ทารกก่อนกำหนดมาก ๆ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง หากพบว่ามีภาวะกระดูกบาง แพทย์จะพิจารณาเสริมแคลเซียมและวิตามินดีให้กับทารก

นอกจากนี้เด็กคลอดก่อนกำหนดจะต้องมีการตรวจติดตามพัฒนาการตามวัยตามที่แพทย์นัดเพื่อป้องกันความผิดปกติและดูแลส่งเสริมให้มีพัฒนาการเท่าเทียมเด็กปกติ รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนตามวัยเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

 

คลอดก่อนกำหนด, เด็กคลอดก่อนกำหนด, ทารกแรกเกิด

 

พ่อแม่ช่วยเสริมพัฒนาการลูก

พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการเจ้าตัวเล็กคลอดก่อนกำหนดได้ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลด้วยการอุ้มและสัมผัสด้วยการกอดแบบจิงโจ้ Kangaroo Care เนื้อแนบเนื้อตามคำแนะนำของกุมารแพทย์ การทำ Kangaroo Mother Care ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจทารกให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้อัตราการหายใจคงที่ ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เพิ่มน้ำหนักตัวและการเจริญเติบโตของทารก ลดความเจ็บปวดและความเครียดของทารก ทำให้หลับได้นานขึ้น ที่สำคัญช่วยลดระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล และสิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่กันไป คือการให้นมแม่โดยการดูดจากเต้าเมื่อทารกมีความพร้อม เพื่อเพิ่มความผูกพันระหว่างทารกกับมารดา

 

ทุกวันที่ 17 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก (World Prematurity Day) หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลกรุงเทพ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการดูแลทารกตั้งแต่วันแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่แข็งแรงในวันที่ลืมตาดูโลก แต่หากทารกคลอดก่อนกำหนดกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยทำงานร่วมกับสูติ-นรีแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแจ้งรายละเอียดให้คุณพ่อคุณแม่ทราบครบทุกขั้นตอนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังพร้อมประสานงานอย่างเป็นระบบในการรับและดูแลผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาลอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยสุขภาพแข็งแรงมีพัฒนาการที่สมวัยและเติบโตอย่างงดงาม

 

แชร์