เจ็บเพราะเล่นกีฬารักษาได้

3 นาทีในการอ่าน
เจ็บเพราะเล่นกีฬารักษาได้

แชร์

เมื่อการออกกำลังกายกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน สิ่งที่อาจตามมาคือ อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไม่มากก็น้อย จึงเป็นที่มาของศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา Sports Science ในที่นี่ไม่ได้จำกัดเพียงการรักษาเท่านั้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมรรถภาพของร่างกาย หรือต้องการวางแผนการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์และบุคลากรเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาได้ 

 

บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

การตระหนักรู้ถึงความสำคัญด้านเวชศาสตร์การกีฬา เริ่มจากอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากกีฬาประเภทต่าง ๆ รวมถึงแนวทางในการรักษา โดยแบ่งประเภทกีฬาออกเป็น

1) กีฬาที่มีการปะทะ (Contact Sport) อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ เป็นต้น 

อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ได้แก่ การบิด ฉีก หักของกล้ามเนื้อ เอ็น หรือกระดูก 

2) กีฬาที่ไม่มีการปะทะ (Non – Contact Sport) เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน เทนนิส กอล์ฟ 

อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการใช้อวัยวะซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างนักกีฬากอล์ฟที่ใช้วงสวิงเดิม ๆ หรือกีฬาที่ใช้แร็กเกตอย่างแบดมินตันและเทนนิส ผู้เล่นจะต้องใช้แขนข้างเดียวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 

 

บริเวณที่บาดเจ็บ

กีฬาที่มีการปะทะและกีฬาที่ไม่มีการปะทะจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณ

  1. กล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบหรือฉีกขาด 
  2. เอ็นฉีก 
  3. กระดูกหัก ซึ่งพบได้น้อยมาก เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีความแข็งสูง 

 

บาดเจ็บ, บาดเจ็บจากกีฬา, บาดเจ็บจากกีฬา หมอ, บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา, บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย

 

แนวทางการรักษา

สำหรับแนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไป มีทั้งการให้ยา ทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัด อาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ทุกอย่างประสานกัน ซึ่งการรักษาคนไข้ควรจะเป็นแบบเฉพาะบุคคลหรือ Custom Made ซึ่งเป็นแนวทางที่สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (BASEM) ยึดเป็นแนวทางมาตรฐานมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังเน้นการรักษาแบบพุ่งเป้าหรือ Targeted Therapy ที่ช่วยลดผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง โดยมีการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก Arthroscopic Surgery เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการรักษา

นอกจากเทคโนโลยีและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาแล้ว ยังมีอีกปัจจัยที่ช่วยตอกย้ำเพิ่มความมั่นใจให้กับคนไข้ที่เข้ารับการรักษาที่ BASEM นั่นคือ การได้รับการรับรองมาตรฐานของฟีฟ่าให้เป็นศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) หรือ FIFA Medical Centre of Excellence ที่โรงพยาบาลกรุงเทพได้รับการรับรองจากฟีฟ่า เพราะ BASEM ครบด้วยคุณสมบัติทั้งการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านกีฬาฟุตบอล มีการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเวชศาสตร์การกีฬา มีทีมแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากทางฟีฟ่า มีโปรแกรมป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอล หรือที่เรียกว่า FIFA 11+ มีการสอน Health Promotion เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้สังคม และให้การรักษาดูแลนักกีฬาทีมชาติ นักกีฬาอาชีพ และนักกีฬาระดับสโมสร

 

ป้องกันการบาดเจ็บ

แม้เทคโนโลยีการแพทย์จะก้าวไปไกลจนสามารถรักษาและฟื้นฟูอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนควรตระหนักคือ การป้องกัน ได้แก่

ป้องกันตัวเอง

หมั่นทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นดี ซึ่งมีส่วนช่วยให้การบาดเจ็บน้อยลง ซึ่งที่ BASEM จะมีโปรแกรมตรวจสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกาย แบ่งเป็นโปรแกรม Fit for Play เป็นการตรวจเช็กสภาพความพร้อมของร่างกายก่อนที่จะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย และทำอย่างไรหากยังไม่ฟิตพอ ซึ่งเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และอีกโปรแกรมคือ Fit for Performance ที่ออกแบบมาเพื่อนักกีฬาที่ต้องการตรวจวิเคราะห์เจาะลึกอย่างละเอียด เพื่อเติมเต็มศักยภาพร่างกายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดเกมส์การแข่งขัน


ทั้งนี้องค์ประกอบความฟิตประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก คือ

  1. ความฟิตของหัวใจและปอด (Cardiorespiratory Fitness) 
  2. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscular Strength) 
  3. กล้ามเนื้อทนทาน (Muscular Endurance) 
  4. สัดส่วนของร่างกายมีความสมส่วน (Body composition) 
  5. ความยืดหยุ่นของร่างกาย (Flexibility) 

 

ป้องกันปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อม

อีกส่วนที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายได้ เช่น เลือกใช้อุปกรณ์กีฬาที่ได้มาตรฐาน อย่างนักวิ่งหากใช้รองเท้าคุณภาพต่ำอาจทำให้เจ็บฝ่าเท้าหรือเจ็บหัวเข่าได้ สถานที่ออกกำลังกายก็ต้องมีสภาวะที่ดี อากาศถ่ายเท ไม่ร้อนเกินไปเพื่อลดการเกิด Heat Stroke เป็นต้น 

หากสามารถป้องกันตัวเองในทุกปัจจัยที่กล่าวมาก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้มากแล้ว แต่เมื่อใดที่เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัย แนะนำให้มาพบแพทย์เฉพาะทาง ยิ่งมาเร็วก็ยิ่งเป็นผลดี และไม่ต้องกลัวไปตามความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า ถ้าผ่าตัดหัวเข่าหรือหัวไหล่แล้วจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ด้านเวชศาสตร์การกีฬาที่ก้าวไกลในทุกวันนี้ ช่วยให้การวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสภาพร่างกายได้เร็ว ที่สำคัญคือ สามารถกลับไปใช้ชีวิตหรือเล่นกีฬาได้ดีกว่าเดิมก็เป็นได้


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์