หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ

4 นาทีในการอ่าน
หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ

แชร์

ปัญหาเกี่ยวกับหนังตาสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยและมีความรุนแรงแตกต่างกัน อาจพบข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แม้ไม่เจ็บปวดแต่อาจส่งผลกับการมองเห็น ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม 


ปัญหาหนังตา

หนังตาตกคือการที่หนังตาหรือเปลือกตาบนตกลงมาต่ำกว่าปกติ โดยอาจตกลงมาเล็กน้อยไปจนถึงตกลงมาปิดรูม่านตาปกคลุมตาดำ ผู้ป่วยมักมาพบจักษุแพทย์ โดยมาปรึกษาเรื่องระดับของตาไม่เท่ากัน ลืมตาไม่ค่อยได้ รู้สึกหนัก ๆ ตา ไปจนถึงการมองเห็นแย่ลงในรายที่เป็นมากได้


ประเภทหนังตาผิดปกติ

อาการหนังตาตกอาจแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. ผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน (Dermatochalasis) ขอบเปลือกตาอยู่ในตำแหน่งปกติ แต่ผิวหนังที่เปลือกตาหรือหน้าผากมีอาการยืดหย่อนลงมาบังลูกตา โดยจะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ อาจพบบ่อยขึ้นในรายที่โดนแดด ขยี้ตาบ่อย ๆ การอักเสบโดยของเนื้อเยื่อรอบตา และโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางชนิด 
    หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ
  2. หนังตาตก (Ptosis) จะพบว่าขอบของเปลือกตาลงมาบังลูกตา เกิดจากการที่กล้ามเนื้อยกเปลือกตาทำงานน้อยกว่าปกติ โดยอาจพบร่วมกับผิวหนังที่เปลือกตาหย่อนได้ เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ
    หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ 

รู้จักผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน

ผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน (Dermatochalasis) เกิดจากความเสื่อมตามอายุของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของผิวหนัง อาจพบได้เร็วขึ้นในผู้ป่วยที่มีการอักเสบรอบดวงตา โดนแดด ขยี้ตาบ่อย ๆ หรือโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางชนิด


อาการผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน

ผิวหนังบริเวณเปลือกตาหรือหน้าผากมีการยืดออกและหย่อนลงมาบังลูกตา ทำให้ชั้นตาเล็กลง รู้สึกลืมตาไม่ค่อยขึ้น หนักตา ต้องพยายามเบิ่งตาตลอด เมื่อใช้มือช่วยดันผิวหนังก็จะลืมตาได้ปกติ บางครั้งอาจมีรอยพับของผิวหนังที่หางตา เกิดความระคายเคืองเวลาน้ำตาไหลหรือเหงื่อออกได้


ตรวจวินิจฉัยผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน

ผิวหนังที่เปลือกตาบนหรือหน้าผากมีการยืดหย่อน มีรอยพับของผิวหนังมากขึ้น ต้องยักคิ้วช่วยอยู่ตลอด เมื่อช่วยยกผิวหนังส่วนเกินอาการจะดีขึ้น และอาจพบเนื้อเยื่อไขมันของเบ้าตาแทรกออกมา ทำให้เปลือกตาดูอูมขึ้นได้ และต้องวินิจฉัยแยกโรคกับเส้นประสาททำงานผิดปกติ หรือโรคทางผิวหนังอื่น ๆ


รักษาผิวหนังที่เปลือกตาหย่อน

  • อาการเล็กน้อย เช่น มีอาการแค่ชั้นตาไม่เท่ากัน อาจใช้เทปใสติดเพื่อสร้างชั้นตาได้
  • อาการหนัก เช่น ผิวหนังหย่อนเลยขอบตาบดบังการมองเห็นต้องทำการผ่าตัดผิวหนังและไขมันส่วนเกินออก ซึ่งสามารถผ่าตัดได้หลายวิธี โดยแพทย์อาจเลือกลงแผลผ่าตัดที่ชั้นตาเดิม เหนือคิ้ว หรือใต้คิ้ว ขึ้นกับตำแหน่งของผิวหนังที่หย่อนและประสบการณ์ของแพทย์

หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ

รู้จักหนังตาตก

หนังตาตก (Ptosis) จะมีขอบของเปลือกตาตกลงมากกว่าปกติ ซึ่งต้องหาสาเหตุและรักษาตามต้นเหตุของโรค โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ หนังตาตกตั้งแต่กำเนิด กล้ามเนื้อยกเปลือกตาหลุดจากตำแหน่งที่เกาะ กล้ามเนื้อมีการฉีกขาดเส้นประสาทหรือสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ หรือมีเนื้องอกดึงรั้งเปลือกตา


หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ
หนังตาตกตั้งแต่กำเนิด

หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ

หนังตาตกตั้งแต่กำเนิดส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อยกเปลือกตาพัฒนาได้ไม่ดีกลายเป็นเนื้อเยื่อผังพืดทำให้การทำงานแย่ลงมีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อส่วนน้อยเกิดจากเส้นประสาททำงานผิดปกติตั้งแต่เกิดหรือโรคทางพันธุกรรม

  • อาการ คือ หนังตาตกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ลืมตาได้ไม่เต็มที่หรือไม่เท่ากัน ชั้นตาไม่ชัด ในรายที่ตกมากอาจมีอาการตาเข หรือสายตาขี้เกียจร่วมด้วย
  • ตรวจวินิจฉัย จากระดับของขอบเปลือกตาต่ำกว่าปกติ ชั้นตาไม่ชัด การทำงานของกล้ามเนื้อยกเปลือกตาแย่ลง ชอบมองแหงนหน้า
  • การรักษา จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยขึ้นกับกำลังของกล้ามเนื้อตาที่เหลืออยู่ ถ้าหากยังกำลังเหลือเยอะสามารถผ่าตัดบางส่วนของกล้ามเนื้อออกเพื่อให้ตึงขึ้น สามารถออกแรงได้มากขึ้น แต่ถ้าหากกำลังของกล้ามเนื้อตามีน้อย อาจต้องยืมแรงจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก โดยส่งผ่านทางซิลิโคนหรือเส้นเอ็นที่ปลูกถ่ายไว้ใต้ผิวหนัง ในกรณีที่ตกมากจนบังการมองเห็นต้องรีบผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะสายตาขี้เกียจ 

กล้ามเนื้อยกเปลือกตาหลุดจากตำแหน่งที่เกาะ

หนังตาตก รีบรักษาก่อนเสียความมั่นใจ 

กล้ามเนื้อยกเปลือกตาหลุดจากตำแหน่งที่เกาะส่วนใหญ่เกิดจากการยืดหย่อนตามอายุอาจพบจากอุบัติเหตุที่เปลือกตาหรือการสัมผัสเปลือกตาบ่อยๆเช่นขยี้ตาจากภูมิแพ้ใส่คอนแทคเลนส์หลายๆปีเป็นต้น

  • อาการ คือ ลืมตาไม่ค่อยได้ ค่อย ๆ สะสมเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • ตรวจวินิจฉัย จากระดับของขอบเปลือกตาที่ต่ำกว่าปกติ มีชั้นตาหลายชั้นหรือชั้นตาร่นขึ้นไปสูง โดยที่การทำงานของกล้ามเนื้อยกเปลือกตาปกติ
  •  การรักษา จะทำการรักษาด้วยการแก้ไขที่สาเหตุ ลดการขยี้ตา และผ่าตัดกล้ามเนื้อตาให้กลับมายึดที่จุดเดิม

กล้ามเนื้อมีการฉีกขาด

กล้ามเนื้อมีการฉีกขาดเกิดจากอุบัติเหตุค่อนข้างรุนแรงที่เปลือกตาจนเกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อด้านใน

  • อาการ คือ ลืมตาไม่ได้หลังจากเกิดอุบัติเหตุ
  • ตรวจวินิจฉัย จากการพบรอยแผลที่เปลือกตาบน พบเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด กล้ามเนื้อยกเปลือกตาทำงานไม่ได้
  • การรักษา จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเย็บต่อกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นที่ฉีกขาดเข้าด้วยกัน ในกรณีที่เส้นประสาทฉีกขาดร่วมด้วยอาจต้องรอเส้นประสาทฟื้นตัว 6 เดือน ก่อนผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติมด้วยวิธีเดียวกันหนังตาตกตั้งแต่กำเนิด

เส้นประสาทหรือสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ

เส้นประสาทหรือสารสื่อประสาททำงานผิดปกติเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทอุดตันจากโรคประจำตัวมีก้อนไปกดทับเส้นประสาทในรายที่เกิดจากสารสื่อประสาทมักมีอาการแย่ลงหลังการใช้งานและดีขึ้นเมื่อได้พัก

  • ตรวจวินิจฉัย พบว่ากล้ามเนื้อยกเปลือกตาทำงานได้ไม่ดี หรือมีการล้าของกล้ามเนื้อตา อาจพบตาเข ตาเหล่ กลอกตาไม่ได้ เห็นภาพซ้อน
  • การรักษา จะทำการรักษาที่สาเหตุ เช่น ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี ผ่าตัดเอาก้อนที่กดทับเส้นประสาทออก หรือใช้ยาลดการทำลายสารสื่อประสาท ถ้าหากยังมีหนังตาตกเหลืออยู่ อาจต้องรอเส้นประสาทฟื้นตัว 6 เดือน ก่อนผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติมด้วยวิธีเดียวกันกับหนังตาตกตั้งแต่กำเนิด

เนื้องอกดึงรั้งเปลือกตา

เนื้องอกดึงรั้งเปลือกตา คือ มีก้อนเนื้อขนาดใหญ่ที่เปลือกตาบน ทำให้หนังตาหนัก ลืมตาไม่ได้ ต้องแก้โดยการผ่าตัดก้อนเนื้อออก

หนังตาตกไม่สามารถป้องกันได้ การสังเกตอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้การตรวจเช็กสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ ย่อมช่วยให้รับมือกับความผิดปกติของดวงตาได้อย่างทันท่วงที


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์