ปวดส้นเท้าสัญญาณโรครองช้ำ

2 นาทีในการอ่าน
ปวดส้นเท้าสัญญาณโรครองช้ำ

แชร์

รู้จักโรครองช้ำ

โรครองช้ำ (Plantar Fasciitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณที่พังผืดยึดกับกระดูกส้นเท้า ผู้ป่วยมักมีการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าเวลาลงน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรก ๆ ของการลงน้ำหนัก เช่น ตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังจากการนั่งนาน ๆ แต่เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ อาการปวดจะดีขึ้น ซึ่งในนักวิ่งก็เช่นกัน อาการปวดจะมีมากในช่วงแรกของการวิ่ง เมื่อวิ่งไปได้ระยะหนึ่ง อาการปวดจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่จะกลับมาปวดอีกครั้งเมื่อหยุดวิ่ง เมื่อเป็นมาก ๆ จะมีอาการปวดตลอดเวลา

 


สาเหตุบอกโรครองช้ำ

  • การใช้งานมากเกินไปจนร่างกายทนไม่ไหว เช่น การฝึกวิ่งที่หักโหมจนเกินไป หรือการวิ่งในระยะทางที่ไกลเกินไป
  • การวิ่งกระแทกส้น สาเหตุนี้มักพบในคนที่ชอบวิ่งก้าวยาว ๆ ทำให้จังหวะลงเท้ามีการกระแทกอย่างรุนแรงที่ส้นเท้า
  • การวิ่งบนพื้นแข็งหรือใช้รองเท้าที่พื้นบางเกินไปจนไม่สามารถรับแรงกระแทกได้ดีพอ
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ในคนอ้วนมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่า เนื่องจากแรงกระแทกจะมีการแปรผันตามน้ำหนักตัวที่ลงไปบนส้นเท้า
  • โครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าสูง เท้าแบนและคว่ำ หรือส้นเท้าบิดออกด้านนอก

นอกจากอาการปวดเวลาลงน้ำหนักแล้ว อาจมีอาการกดเจ็บบริเวณกึ่งกลางของกระดูกส้นเท้าร่วมด้วย หากคลำที่กระดูกบริเวณนั้นจะพบว่ามีความนูนมากกว่าปกติ หรือในผู้ป่วยบางคนอาจมีเนื้อส้นเท้าบริเวณนั้นบางกว่าคนปกติ

img

รักษาโรครองช้ำ

การรักษาโรครองช้ำสามารถทำได้โดยยึดหลัก 3 ลด ได้แก่
  1. ลดการใช้
  2. ลดการอักเสบ
  3. ลดแรงกระแทกที่ส้นเท้า

โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
  • เลือกรองเท้าที่มีเจลรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้าเป็นพิเศษหรือเจาะรูที่พื้นรองเท้าให้เป็นวงกลมเพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับบริเวณที่อักเสบ
  • หากมีรูปเท้าที่ผิดปกติควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปร่างของเท้า ให้ความสำคัญกับพื้นรองเท้า ต้องมีความหนานุ่มเพียงพอ เพื่อช่วยพยุงและรองรับฝ่าเท้าได้ดี
  • ปรับท่าวิ่งให้ก้าวสั้นลงและพยายามเปลี่ยนมาลงน้ำหนักให้เต็มฝ่าเท้าอย่างนุ่มนวล
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง
  • บริหารด้วยการยืดพังผืดฝ่าเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พังผืดเกิดความยืดหยุ่น จะสามารถช่วยลดแรงกระชากบริเวณจุดเกาะที่กระดูกส้นเท้า ส่วนในรายที่พังผืดตึงมาก ๆ ให้แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนทำการยืดประมาณ 15 – 20 นาที เพื่อให้พังผืดอ่อนตัว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะช่วยลดอาการเจ็บขณะบริหาร
  • ลดน้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวยังคงมากอยู่ ควรเปลี่ยนไปออกกำลังชนิดอื่นที่ไม่มีการกระแทกบริเวณส้นเท้า เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน
  • เมื่อกลับไปวิ่ง ควรเพิ่มระยะอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นวิ่งบนพื้นที่นุ่ม ๆ ก่อน และหากมีอาการเจ็บควรหยุดวิ่งทันทีอย่าฝืน


สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมากจำเป็นจะต้องทานยาแก้อักเสบและรักษาด้วยการกายภาพบำบัด เช่น การทำอัลตราซาวนด์หรือเลเซอร์ร่วมด้วย หากยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและหาสาเหตุอื่น ๆ เช่น กระดูกร้าวหรือกระดูกงอกที่ใต้กระดูกส้นเท้า รวมทั้งแพทย์อาจให้การรักษาอื่น ๆ ต่อไป เช่น การฉีดยาต้านการอักเสบแบบเฉพาะที่ การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูงหรือ PRP หากยังไม่ดีขึ้นอาจจำเป็นต้องผ่าตัด



สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์