อย่างที่ทราบกันดีว่าการออกกำลังกายนั้นดีต่อร่างกาย แต่ถ้าออกกำลังกายมากเกินไปอาจตกอยู่ในภาวะ Overtraining Syndrome ออกกำลังกายมากเกินไปจนบั่นทอนร่างกายและจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงควรรู้เท่าทันและออกกำลังกายให้พอดีเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง
รู้จัก Overtraining Syndrome
Overtraining Syndrome คือกลุ่มอาการหรือการตอบสนองของร่างกายที่ส่งผลต่อสมรรถภาพของร่างกาย (Physical Performance) และส่งผลในเรื่องของจิตใจ ทำให้อารมณ์แปรปรวนหรือมีความผิดปกติของอารมณ์ (Mood Disturbance) จากการออกกำลังกายที่หนักจนเกินรับไหว
ตัวการ Overtraining Syndrome
สาเหตุของ Overtraining Syndrome ได้แก่
- ฝึกซ้อมมากเกินไป โดยออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมที่ไม่เหมาะกับผู้ที่ออกกำลังกาย อาทิ ปริมาณการซ้อม ความหนักหน่วงของการซ้อม เป็นต้น
- พักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น นอนหลับไม่เพียงพอ พักผ่อนระหว่างซ้อมน้อยเกินไป
- ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เช่น โปรตีนน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายและกล้ามเนื้อขาดการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ, คาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายสะสมพลังงานได้ไม่เต็มที่, สารน้ำหรือน้ำน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำระหว่างออกกำลังกาย เป็นต้น
- ความเครียดสะสม ทำให้เกิดภาวะ Overtraining Syndrome ได้เช่นกัน
กลุ่มเสี่ยง Overtraining Syndrome
- ผู้ที่ออกกำลังกายหนักเกินไป
- นักกีฬา
- ผู้ฝึกซ้อมเพื่อเข้าแข่งขัน
อาการ Overtraining Syndrome
อาการของภาวะ Overtraining Syndrome มีหลายรูปแบบ เช่น
- สมรรถภาพการออกกำลังกายลดลง
- ไม่สามารถออกกำลังกายได้ตามเป้าที่วางไว้
- เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- หอบเหนื่อยมากขึ้น
- เหงื่อออกมากขึ้น
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร
- เครียดโดยไม่มีสาเหตุ
ป้องกัน Overtraining Syndrome
สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักควรต้องระวังภาวะ Overtraining Syndrome โดยจัดวางโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม อาจใช้หลักการง่าย ๆ คือ นักกีฬาหรือผู้ที่เตรียมแข่งขันควรทำเวลาให้ดีขึ้นไม่เกิน 10% ในแต่ละสัปดาห์ หากเป็นนักวิ่งไม่ควรเพิ่มระยะทางมากจนเกินไป ไม่ควรเกิน 10% ในแต่ละสัปดาห์ และต้องพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้มีคุณภาพ
ความรุนแรงของ Overtraining Syndrome
หากออกกำลังกายมากเกินไปจนร่างกายตกอยู่ในภาวะ Overtraining Syndrome อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น กระดูกอ่อนหัวเข่าสึก เส้นเอ็นหัวเข่าบาดเจ็บ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตามถ้าออกกำลังกายแล้วรู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่ฟิตเหมือนที่เคย แนะนำให้ตรวจเช็กความฟิตของร่างกายกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อจะได้รู้สมรรถภาพของตัวเอง ออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาพดีในระยะยาว