โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ร่วมกับ Universal Strategy Institute Limited Liability Company แห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามความร่วมมือสร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีทางด้านรังสีรักษาที่ให้ประสิทธิผลในผู้ป่วยมะเร็งและเนื้องอกที่ทันสมัย โดยใช้ระยะเวลาในการรักษาสั้น มีผลข้างเคียงน้อย ใช้ได้กับผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการฉายรังสีแบบเดิม หรือรับการรักษาแบบเดิมแล้วไม่เป็นผล
นพ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์กรุงเทพ กล่าวว่า การลงนามร่วมกันเพื่อสร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy ในครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของวงการแพทย์ในเมืองไทยที่ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศด้านรังสีรักษาทางการแพทย์ของญี่ปุ่น (NPO Japanese Organization for International Cooperation In Radiation Medicine) และโรงพยาบาลศิริราช
ในปี ค.ศ. 1993 สถาบันวิทยาศาสตร์รังสีแห่งชาติ หรือเอ็นไออาร์เอส (National Institute of Radiological Sciences: NIRS) ในประเทศญี่ปุ่นได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคหนักที่มีประจุ (Heavy Charged Particle Accelerator) สำหรับรักษาโรคเพื่อใช้ในทางการแพทย์ขึ้นและประสบความสำเร็จในการใช้รังสีรักษาด้วยคาร์บอนไอออน โดยได้รับการรับรองในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จากกระทรวงสุขภาพแรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น ในหัวข้อ “การรักษาก้อนเนื้องอกด้วยไอออนหนัก” (Solid Tumor Treatment with Heavy Ion Therapy) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น NIRS ได้รักษาคนไข้ไปแล้วเป็นจำนวนมาก
โดยมีข้อมูลอัตราการมีชีวิตรอดที่ 5 ปีในมะเร็งแต่ละชนิดดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก 95% มะเร็งปอด (Non – Small Cell Lung Cancer) ระยะที่หนึ่ง 70% มะเร็งกระดูกที่บริเวณด้านข้างของกระดูกสันหลังและกระดูกอุ้งเชิงกราน 50% มะเร็งตับชนิดลุกลามหรือชนิดกลับเป็นใหม่ 50% มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม 45% เป็นต้น และในปัจจุบันสถาบันที่มีเทคโนโลยีการรักษาด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy มี 7 แห่งทั่วโลก ได้แก่ ที่ญี่ปุ่น 4 แห่ง เยอรมนี 1 แห่ง อิตาลี 1 แห่ง และเซี่ยงไฮ้ 1 แห่ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถจะเป็นลำดับที่ 8 ในการสร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy”
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy นั้นมีการใช้อนุภาคคาร์บอน นีออน และอาร์กอน (ไอออนหนัก) ในการฉายรังสี ส่วนใหญ่ที่ใช้กันมากจะเป็นคาร์บอนบำบัด (Carbon Therapy) ซึ่งไอออนหนักสามารถคายพลังงานเกือบทั้งหมดในความลึกที่ต้องการได้ จึงสามารถให้ปริมาณรังสีที่เซลล์มะเร็งและเนื้องอกในปริมาณที่สูง โดยที่เนื้อเยื่อปกติโดยรอบได้รับรังสีน้อยมาก นอกจากนี้ไอออนหนักยังมีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่ารังสีที่ใช้อยู่ทั่วไป 2 – 3 เท่า ไอออนหนักเป็นประเภทหนึ่งของอนุภาคบำบัด หรือ Particle Therapy
Particle Therapy แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
- การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton Beam Therapy) โดยอนุภาคโปรตอนนี้จะได้มาจากการแยกไฮโดรเจนไอออนและการรักษาด้วยอนุภาคไอออนหนัก (Heavy – Ion Beam Therapy) ไอออนหนักนั้นส่วนใหญ่จะใช้ธาตุคาร์บอนในการรักษา ซึ่งระยะเวลาการรักษาด้วยคาร์บอนนั้นสามารถลดทอนระยะเวลาในการรักษาลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง และปริมาณรังสีที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับมีปริมาณน้อยกว่าการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน
- การรักษาด้วยอนุภาค (Particle Therapy) เป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลายมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งและเนื้องอกด้วยวิธีการทางรังสีรักษา โดยใช้นิวเคลียสพลังงานสูงของธาตุมวลหนักต่าง ๆ ได้แก่ โปรตอน คาร์บอน อาร์กอน ฯลฯ ซึ่งการทำให้เกิดพลังงานสูงนั้นก็เกิดจากการเหนี่ยวนำอนุภาคด้วยพลังแม่เหล็กแยกเอาประจุบวกและลบเพื่อให้ได้ประจุที่ต้องการหรือสร้างอนุภาคที่เหมาะสมแล้วนำไปเร่งความเร็วด้วยเครื่องเร่งอนุภาคซินโครตรอนหรือไซโคลตรอน เพื่อให้ความเร็วของอนุภาคนั้นรวดเร็วเท่ากับความเร็วแสง และรวมประจุเข้าด้วยกันเป็นลำรังสีสำหรับใช้ในการรักษา
ความแตกต่างของอนุภาคบำบัดและกลุ่มรังสีโฟตอน (Photon Beam) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการฉายรังสีในปัจจุบันนั้นก็คือ รังสีโฟตอน ไม่ว่าจะเป็นรังสีแกมมาหรือรังสีเอกซ์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง ซึ่งจะค่อย ๆ คายพลังงานไปตามความลึกของเนื้อเยื่อที่ลำรังสีผ่านไปตั้งแต่ชั้นผิวหนังลงไปจนถึงก้อนเนื้องอกที่ต้องการทำลาย ในขณะที่รังสีอนุภาคนั้นเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่ไม่ได้เป็นคลื่น ลำรังสีอนุภาคจะคายพลังงานส่วนใหญ่ที่ความลึกและตำแหน่งที่กำหนด จึงสามารถเข้าทะลุถึงส่วนลึกของร่างกายได้โดยที่เซลล์ดีที่ลำรังสีผ่านเข้าไปจะถูกทำลายน้อยมาก
ข้อดีของการรักษาด้วยอนุภาคบำบัดคือ มีความชัดเจนถูกต้องสูง ลำรังสีสามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในความลึกและตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างถูกต้องในปริมาณรังสีที่เหมาะสมจึงเหมาะสำหรับการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด และกลุ่มผู้ป่วยที่ปฏิเสธการผ่าตัด เนื่องจากลำรังสีจะคายพลังงานเกือบทั้งหมดในตำแหน่งที่กำหนด จึงทำให้ปริมาณรังสีที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายนั้นก่อผลกระทบกับเซลล์ปกติน้อยมาก
ในขณะที่เซลล์มะเร็งหรือก้อนเนื้องอกนั้นจะถูกทำลายอย่างตรงเป้าหมาย การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดจึงเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอนาคตจากการฉายรังสี (Secondary Malignancy) ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉายรังสีแบบปกติแล้วอาจมีผลข้างเคียงในการรักษาสูง และผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกอยู่ใกล้บริเวณที่มีอวัยวะที่มีความเสี่ยงจากรังสีสูง
นอกจากข้อดีข้างต้นแล้วการรักษาด้วยไอออนหนักยังมีข้อดีที่ต่างจากอนุภาคโปรตอน คือ การรักษาด้วยไอออนหนักจะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดที่ดื้อต่อรังสี เนื่องจากการรักษาด้วยไอออนหนักจะมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าการฉายรังสีโฟตอน (Photon Beam) หรือการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton Therapy)