แพ้บ้างก็ได้

7 นาทีในการอ่าน
แพ้บ้างก็ได้

แชร์

โลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบดีทั้ง 100% มีดีมีเลว มีสุขมีทุกข์ มีแพ้มีชนะ ปะปนกันไปเป็นสัจธรรมที่ทุกคนต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้ายอมรับในความจริงนี้ได้ ชีวิตก็จะเบาสบายมีความสุขได้โดยง่าย แต่บางคนก็มีด้านมืดบอกใครไม่ได้ จึงพยายามสร้างจุดเด่นเพื่อกลบปมด้อย และเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นใครมีในสิ่งที่ตัวเองขาด เพราะคนขี้อิจฉาชอบเปรียบเทียบและเสพติดการแข่งขัน รู้สึกดีถ้าได้อยู่เหนือใคร แต่บางคนใช้ความมั่นใจปิดบังความอ่อนแอ เพราะกลัวความพ่ายแพ้ จึงกล้าแลกทุกอย่าง อยากจะชนะก็จะยิ่งแพ้

นิสัยของคนเราจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจากการปลูกฝัง เหตุการณ์ที่เคยเจอ หรือแม้แต่สภาพแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้คนเรามีนิสัยที่แตกต่างกัน แต่ตัวเราเองจะเป็นคนกำหนดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดและการกระทำของเราด้วย หากเล่นเกมแล้วแพ้สามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างในเกม ไม่สามารถกลับไปแก้ตัวได้อีก

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทุกคนเคยมีประสบการณ์สังคมร่วมกัน ที่เคยพบเจอคนที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับความผิด แพ้ไม่เป็น ตัวเองถูกต้องเสมอในทุกเรื่อง ใคร ๆ ก็แตะต้องไม่ได้ ตอนนี้มาสำรวจกันว่า เราเข้าข่ายแพ้ไม่เป็นหรือไม่ เวลามีคนว่ากล่าวตักเตือนแล้วเราโกรธเขาหรือไม่ ถ้าเป็นเพียงความไม่สบายใจ รู้สึกผิดบ้างเป็นครั้งคราวนั้นถือว่าปกติ แต่ถ้ารู้สึกโกรธทุกครั้ง หงุดหงิดทุกครั้งเมื่อมีคนท้วงติง

ต้องสังเกตตัวเองว่า เราโมโหทุกครั้งหรือเปล่า กับทุกคนไหม แต่ถ้าเป็นกับคนคนเดียวนั้นถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่ชอบหน้ากันเป็นพิเศษกับคนคนนั้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นกับทุก ๆ คน ใครเตือนอะไรไม่ได้ โกรธ โมโห ขัดเคืองใจ มีความคิดในแง่ลบเสมอ ถ้าคุณเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าเข้าข่ายที่เป็นคนแพ้ไม่ได้ ยอมรับความจริงไม่เป็น

การยอมแพ้บ้างนั้นมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะทำให้เราได้ทบทวนปรับปรุงตัวเอง ได้เห็นข้อผิดพลาดและแก้ไขให้ดีขึ้น ชีวิตมีการพัฒนาในทางที่ดี เป็นการเปิดใจรับฟัง ไม่เป็นคนปิดกั้น และก็จะเป็นคนน่ารักน่าคบหาในสายตาคนอื่นอีกด้วย การรู้จักความพ่ายแพ้คือการอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตว่าไม่มีใครได้เป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ถ้าใช้ชีวิตอยู่กับความจริงก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น

 

image

นิสัยของคนขี้อิจฉา

คนที่อิจฉาคนอื่น คนขี้แพ้มักมีนิสัยขี้อิจฉา เพื่อนรวยกว่า สวยกว่า หล่อกว่า จะรู้สึกไม่สบายใจ เกิดการเปรียบเทียบ นักจิตวิทยากล่าวว่า ความรู้สึกของการอิจฉา คือ การไม่สามารถรู้สึกถึงเนื้อหาในชีวิตของตัวเอง เป็นเพราะคนที่อิจฉามักต้องการมีสิ่งที่พวกเขาอิจฉา พวกเขาโกรธมากที่คนอื่นสามารถบรรลุสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตและได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการ สรุปว่าคนขี้อิจฉา บางทีก็น่าสงสาร การปฏิเสธความคิดเห็นของคนอื่น ผู้แพ้มักจะคิดว่าตัวเองรู้หมดทุกเรื่อง แต่เขาจะตอบคำถามได้แบบเผิน ๆ โดยไม่รู้รายละเอียดจริง ๆ ผลทางด้านจิตวิทยาบอกไว้ว่า มีคนที่ไม่สามารถประเมินความรู้ความเข้าใจของตนเองได้ เขาจึงแสดงออกมาในลักษณะของการรู้รอบด้าน เพียงเพราะกลัวด้อยกว่าคนอื่น

ไม่รู้วิธีการสื่อสารกับคนอื่น มักจะไม่รู้วิธีสร้างสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว บางคนอาจจะมีพฤติกรรมที่หยิ่งกับบุคคลในระดับสังคมที่ต่ำกว่า สิ่งที่ควรทำคือเรียนรู้ที่จะเข้ากับผู้อื่นให้มากขึ้น เพื่อขยายสังคมของเราให้กว้างขึ้น ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยของคนขี้อิจฉาอย่างจริง เมื่อยังดูถูกตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองจะพัฒนาหรือไปได้ไกลกว่าเดิม ชีวิตของเราก็จะไม่มีวันไปถึงไหน สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ว่าใครจะดูถูกเรา ยังไม่เท่าดูถูกตัวเอง

การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นไม่ได้ทำให้ตัวเราดีขึ้น หากได้เปรียบเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็จะรู้สึกสงสารตัวเอง นี่คืออารมณ์ที่อันตรายที่สุดของมนุษย์ที่จะชะลอการเจริญเติบโตลง ตำหนิคนอื่นเมื่อตัวเองทำผิดพลาด การที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่มีเส้นสายหรือไม่มีเงิน แต่เป็นเพราะตัวเองที่ไม่มีความพยายามมากพอในการสอบ คนที่ประสบความสำเร็จจะไม่มองหาใครสักคนเพื่อตำหนิ แต่จะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

 

image

แพ้ให้เป็น

นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การเลี้ยงดูของครอบครัวนั้นมีส่วนให้คนเติบโตเป็นแบบนั้น จากการเลี้ยงดูที่เข้มงวด กดดัน คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป ลูกเรียนดี ลูกได้ที่ 1 พ่อแม่จะรักและภูมิใจมาก ทำให้เด็กรู้สึกตึงไม่ยืดหยุ่น ต้องการเป็นที่ 1 ให้พ่อแม่ภูมิใจ พ่อแม่จึงควรชื่นชมลูกด้วยความดีจากภายใน การชื่นชมลูกที่ทำดีกับการยกยอลูกแตกต่างกัน การชื่นชมลูกเมื่อลูกทำดีจะเป็นการส่งเสริมกำลังใจในทางบวก ผลักดันให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมและสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกด้วย เมื่อลูกโตขึ้นเขาจะมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง เช่น ลูกเป็นเด็กดี สุภาพ มีน้ำใจ อดทน พยายาม มากกว่าไปมองเปลือกข้างนอกว่าต้องได้ที่ 1 ถึงจะดี เช่น ลูกอ่านหนังสือนานเพื่อสอบ พ่อแม่ชื่นชมที่ลูกอดทน ตั้งใจและพยายาม ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม่ก็ภูมิใจเสมอที่ลูกตั้งใจมากขนาดนี้

ในวัยเด็กยังสอนง่าย ถ้าปล่อยให้โตแล้วติดนิสัยต้องเป็นที่ 1 ตลอดเวลาก็ยากที่จะแก้ไข ถ้าต้องเจอเพื่อนร่วมงานแบบนี้ อย่าไปเอาชนะหรือปะทะชน เหมือนเราเจอคนหยาบคายก้าวร้าว เราไม่จำเป็นต้องไปก้าวร้าวตอบเขา แต่เอาเขามาเป็นบทเรียนสอนตัวเราเองว่า เราจะสุภาพอ่อนโยน ฝึกตัวเองไม่ให้ต้องไปเอาชนะแข่งกับเขา แต่ทำเพื่อแข่งกับตัวเอง มาดูตัวเองถึงคราวแพ้ก็แพ้บ้าง รู้จักอดทนอดกลั้น ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือเอาชนะกันแบบเอาเป็นเอาตาย

สอนให้ลูกหัดชื่นชมคนอื่น ลักษณะอย่างหนึ่งของคนที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา คือ การรู้จักชื่นชมคนอื่น ซึ่งหมายถึงยอมรับความสามารถของผู้อื่นที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นจากการมองเห็นความดีของคนอื่นนั่นเอง เช่น เพื่อนของลูกวาดภาพได้ที่ 1 ก็ควรสอนให้ลูกรู้จักชื่นชม พร้อมกับให้กำลังใจว่า ถึงลูกจะไม่ได้ที่ 1 แต่ลูกก็เป็นคนเก่งของพ่อแม่ วันนี้ลูกทำได้ดีที่สุดแล้วนะ

ไม่จำเป็นต้องให้ลูกชนะทุกครั้ง เวลาที่พ่อแม่เล่นกับลูก ไม่จำเป็นต้องให้ลูกชนะทุกครั้ง ลองให้ลูกแพ้ดูบ้าง ให้ลูกยอมรับความเป็นจริงว่า การแข่งขันกันนั้นก็มีแพ้มีชนะ ครั้งแรกลูกอาจเสียใจไม่ยอมแพ้ ไม่อยากแพ้ก็ไม่เป็นไร พอลูกอารมณ์ดีก็ชวนมาเล่นกันใหม่ให้แพ้บ้างชนะบ้าง หรือหาโอกาสให้ลูกได้เล่นกับกลุ่มเพื่อนอย่างอิสระ เขาจะได้เรียนรู้กฎกติกา ผลแพ้ชนะ และไม่หวั่นต่อความผิดหวังพ่ายแพ้

หานิทานมาเล่าเปรียบเทียบให้ลูกฟัง การยกตัวอย่างจากนิทานเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี คุณพ่อคุณแม่ลองหานิทานมาเล่าเปรียบเทียบให้ลูกฟังเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่สอนให้เข้าใจถึงเรื่องน้ำใจนักกีฬา จะช่วยให้ลูกทำความเข้าใจกับการแพ้ชนะได้ง่ายขึ้น ผ่านการดำเนินเรื่องของตัวละครในนิทานที่เด็ก ๆ คุ้นเคย

จริงอยู่ความพ่ายแพ้ย่อมนำมาซึ่งความเสียใจ ผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดา แต่ลูกจะแสดงออกอย่างไรหลังจากเกิดความรู้สึกเหล่านั้น เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้วัคซีนป้องกันโรคแพ้ไม่เป็น เพื่อให้ลูกสนุกกับการแข่งขันไม่ว่าแพ้หรือชนะก็ตาม

 

image

แพ้อย่างฉลาด

เด็ก ๆ ยังไม่เข้าใจว่า เมื่อพายุร้ายพัดใส่จะมีฟ้าหลังฝนที่สดใสตามมา แถมคิดไปว่าเมื่อเป็นผู้แพ้จะต้องแพ้กันไปชั่วนิรันดร์ ดร.ทามาร์ ชานสกี้ นักจิตวิทยาเด็ก ผู้เขียนหนังสือ Freeing Your Child from Negative Thinking อธิบาย ถึงอย่างนั้นเราก็ยังสามารถช่วยอธิบายให้ลูกรู้และช่วยลูกเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการเป็นผู้แพ้ได้ รู้จักความจริงของชีวิต เมื่อลูกเริ่มสงบลง ลองชี้ให้เขารับรู้ความจริงข้อหนึ่งว่า คนเรามีวันพ่ายแพ้ ไม่สมหวังกันทุกคน แม้แต่นักกีฬามืออาชีพก็เคยแพ้มาแล้ว

เสริมภูมิคุ้มกันความผิดหวัง เรื่องนี้ควรสอนให้ลูกได้รู้แต่เนิ่น ๆ เด็ก ๆ จำเป็นต้องฝึกรับมือกับเหตุการณ์ผิดหวังทั้งหลาย วิธีหนึ่งที่จะช่วยฝึกได้คือ ไม่ตามใจลูกทุกครั้ง เช่น ไม่ซื้อของให้ทุกครั้ง ถ้าครั้งที่แล้วได้ไปแล้ว ครั้งนี้จะเป็นคราวของน้องบ้าง ลูกจะค่อย ๆ สะสมภูมิคุ้มกันต่อความรู้สึกไม่สมหวังมากขึ้น

สอนลูกโตไปไม่ดูถูกคนอื่น รู้แพ้ ชนะ ให้อภัย เมื่อพบว่าลูกชอบเปรียบเทียบว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เคยชมหรือให้ท้าย เพราะไม่อยากให้ลูกกลายเป็นคนหลงตัวเอง การดูถูกคนอื่นไม่ใช่นิสัยของคนดี ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน พูดจาถากถาง ดูแคลนคนที่ด้อยกว่า เพียงเพราะความสนุกสนาน เมื่อบ่อยเข้าอาจกลายเป็นนิสัยและติดตัวไปจนโต ต้องสอนลูกว่าการแสดงอาการแบบนี้จะทำให้คนอื่นไม่ชอบ มองเราไม่ดี ไม่น่าคบ และอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม พื้นฐานทางจิตใจ การอบรมเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมและการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะขัดเกลาจิตใจให้ใสสะอาด

ถ้าได้ยินลูกแสดงอาการดูถูกคนอื่น ทั้งความคิด คำพูด หรือการกระทำ ให้ค่อย ๆ แนะนำ และสอนเขาว่าคนแต่ละคนมีความสามารถหรือความเก่งแตกต่างกัน บางอย่างที่เราไม่ถนัด คนอื่นเขาอาจจะทำได้ดีกว่า เพราะคนเราไม่สามารถที่จะเก่งได้ทุกด้าน สอนให้เขารู้จักช่วยเหลือคนอื่น หรือขอความช่วยเหลือจากคนที่เก่งกว่า เขาจะรู้จักยอมรับความสามารถคนอื่นได้ เพราะโรคแพ้ไม่เป็นเป็นโรคที่จะทำให้ใช้ชีวิตลำบากในสังคม

 

image

โรคแพ้ไม่เป็นนี้จะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้นกับผู้ที่มีความรู้ การศึกษาที่สูงกว่า มีตำแหน่งที่สูงกว่า ตอนเป็นเด็กเราวิ่งเข้าเส้นชัยช้ากว่าเพื่อน เราแพ้ เสียใจแค่นั้น พอเป็นผู้ใหญ่เราแพ้เหมือนกัน แต่นอกจากเสียใจยังมีเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ยิ่งถ้าเคยเป็นผู้ชนะหรือมีตำแหน่งเป็นแชมป์อยู่ละก็ ศักดิ์ศรีที่เสียก็จะมากขึ้นทวีคูณ ผู้ที่เป็นโรคแพ้ไม่เป็น พอแพ้ขึ้นมาก็จะไม่ยอมแพ้ จะสู้ หาทางเอาชนะให้ได้ ยิ่งหากมีการศึกษาสูง ศักดินาใหญ่โตขึ้น ย่อมทะเยอทะยานสูงทวีคูณ ยิ่งหาทางเอาชนะ เอาชนะ และทนไม่ได้ สุดท้ายหาทางออกที่รุนแรง

ชีวิตมันมีสองด้านเสมอ สุขกับทุกข์ แพ้กับชนะ หัดรู้จักอีกด้านหนึ่ง เพราะบางครั้งก็ต้องเจอกับมันเข้าสักที เมื่อทุกข์ก็ต้องอยู่กับทุกข์ให้ได้ เมื่อแพ้ก็รู้จักยอมแพ้เสียบ้าง มิใช่ดันทุรังแต่จะเอาชนะอย่างเดียว เพราะการยอมแพ้ไม่ใช่จะเสียไปทุกอย่าง บางครั้งสิ่งที่ได้รับกลับมาอาจมีคุณค่ามากกว่าที่จะชนะเสียอีก การยอมแพ้บางครั้งทำให้เราได้เพื่อนกลับมา ทำให้เราไม่เสียคนรัก ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน เห็นไหมว่า การยอมแพ้เสียบ้างไม่เห็นจะแย่ตรงไหนเลย จะดีตรงไหนถ้าชนะแล้วต้องเสียเพื่อน เสียงาน เสียเจ้านาย หรือเสียคนรักไป

จงแพ้เถอะ ถ้าการแพ้นั้นเพื่อให้คนอื่น ๆ หรือส่วนรวมได้ชนะบ้าง หัดรู้จักแพ้กันไว้บ้าง อย่าให้ตัวเองได้ชื่อว่าเป็นโรคแพ้ไม่เป็น เพราะคนที่ยอมแพ้คือผู้ชนะ อย่างน้อยเรายอมแพ้เพื่อรักษามิตรภาพ รักษาความสัมพันธ์ การที่แข็งขืน ยืนหยัดในจุดที่ต้องการอยู่เพียงคนเดียว ก็จะได้อยู่เพียงคนเดียว ทุกอย่างต้องบังคับที่ใจเรา ถ้าปล่อยให้แพ้ไม่เป็นไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งต้องแพ้ขึ้นมาจริง ๆ อาจรับไม่ไหว

 

เรื่อง: อณุสรา ทองอุไร 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แชร์