เพศทางเลือก (LGBT)

2 นาทีในการอ่าน
เพศทางเลือก (LGBT)

แชร์

รู้จักเพศทางเลือก

เพศทางเลือก คือ กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม สามารถจำแนกได้ดังนี้

  1. กลุ่มที่มีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ทางเพศ คนที่มีเพศที่ปรากฏทางร่างกายกับจิตใจไม่ตรงกัน เช่น ร่างกายเกิดมาเป็นผู้ชาย แต่จิตใจรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้หญิง
  1. กลุ่มที่มีความหลากหลายด้านรสนิยมทางเพศ คนเราแต่ละคนสามารถมีความรู้สึกรัก รู้สึกดึงดูด หรือมีอารมณ์ทางเพศต่อกันในลักษณะที่หลากหลายได้ มีทั้งรักเพศตรงข้าม รักเพศเดียวกัน รักทั้งสองเพศ หรือไม่มีความรู้สึกทางเพศต่อเพศใดเลยก็ได้
  1. กลุ่มที่มีความหลากหลายด้านการแสดงออกทางเพศ เป็นการแสดงออกภายนอกของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจถูกตีความตามบริบทของสังคมนั้น ๆ ว่าเป็นเพศนั้นเพศนี้  เช่น คนที่ไว้ผมยาวสวมกระโปรงต้องเป็นผู้หญิง ฯลฯ

 

เมื่อคนใกล้ตัวเป็น “เพศทางเลือก”

ปัจจุบันเราพบเห็นการแสดงออกของกลุ่มบุคคล “เพศทางเลือก”ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ทำให้ตระหนักถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้อย่างกว้างขวางและทำให้หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า คนใกล้ตัวจะเป็น ”เพศทางเลือก” หรือไม่ เช่น พ่อแม่ที่กังวลเมื่อเห็นลูกชายชอบเล่นตุ๊กตากับกลุ่มเพื่อนผู้หญิง หลายคนรู้สึกรังเกียจและคิดว่าคนกลุ่มนี้มีความผิดปกติ ซึ่งความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

  

เพศทางเลือกส่วนผสมที่ซับซ้อน

ความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนขององค์ประกอบทั้งทางกาย (ฮอร์โมน / สารเคมีในสมอง) จิตใจ (การเลี้ยงดู / วิธีคิดของแต่ละคน) และสังคม (ความคาดหวัง / การยอมรับจากสังคม /วัฒนธรรมที่หลากหลาย) ในทางการแพทย์ไม่ถือว่าบุคคลที่มีความแตกต่างทางรสนิยมและการแสดงออกทางเพศเป็นความผิดปกติ เพียงแต่อาจให้คำแนะนำในการปรับตัวและทำความเข้าใจกับคนรอบข้างในบางรายเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่มีความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ทางเพศนั้นอาจมีความรู้สึกทุกข์ทรมานที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ ภายใต้ร่างกายที่ในความรู้สึกลึก ๆ แล้วไม่ใช่ “ร่างกายของตนเอง” จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งแพทย์จะพยายามแก้ไขร่างกายให้สอดคล้องกับภาวะจิตใจของคนคนนั้น

photo

ปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศ

  • การวินิจฉัยที่ถูกต้อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถระบุบุคคลที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศท่ามกลางผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศชนิดอื่นซึ่งมีอยู่มากมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่น ๆ ผู้ที่สงสัยว่ามีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัย หลังจากจิตแพทย์วินิจฉัยแล้วจะให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต การปรับตัว ตลอดจนการสื่อสารกับครอบครัวหรือบุคคลอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คุณครู เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดูแลที่เหมาะสมและจะมีการนัดติดตามเป็นระยะเพื่อดูผลของการปรับตัว

  • การเข้าสู่กระบวนการแปลงเพศ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม บางคนอาจอยากเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนให้เป็นไปตามที่จิตใจต้องการ จึงควรมาปรึกษากับแพทย์ที่มีความชำนาญการเฉพาะในด้านต่าง ๆ เช่น ผู้ที่ต้องการใช้ฮอร์โมนควรปรึกษาแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อหรือสูติ – นรีแพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาการใช้ฮอร์โมนหรือยาในขนาดที่เหมาะสมและไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ไม่ควรซื้อยาเหล่านี้กินเอง ผู้ที่ตัดสินใจจะรับการผ่าตัดเพื่อแปลงเพศจะต้องพบจิตแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินความพร้อมในการผ่าตัด และควรรับการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดรูปแบบนี้โดยเฉพาะและควรทำการผ่าตัดในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แชร์