ฉี่หนู หน้าฝนน้ำท่วมต้องระวังให้หนัก

2 นาทีในการอ่าน
ฉี่หนู หน้าฝนน้ำท่วมต้องระวังให้หนัก

แชร์

หน้าฝนเต็มไปด้วยโรคที่ต้องระวังมากมาย ยิ่งถ้าน้ำท่วมหนักระบายแทบไม่ทันยิ่งเสี่ยงโรค โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งหากละเลยอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรรู้ระวัง เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนรุนแรงจนยากเกินรับมือ


รู้จักโรคฉี่หนู

โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะอย่างหนู สุนัข สุกร ม้า เป็นต้น ซึ่งจะปนเปื้อนในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยเข้ามาสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีบาดแผล หรือรอยขีดข่วนหากต้องลุยน้ำหรือแช่ในน้ำนาน รวมถึงอาจเข้ามาทางเยื่อบุตา จมูก ปากได้เช่นกัน หากไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ 


อาการโรคฉี่หนู

  • ไข้สูง 
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อรุนแรง
  • หนาวสั่น
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ตาแดง ระคายเคืองตา
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง

ตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนู

ความน่าสนใจของโรคฉี่หนูคืออาการมักจะคล้ายโรคหวัด ผู้ป่วยจึงมักซื้อมายามารับประทานเองแทนที่จะรีบไปพบแพทย์ ทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหากมีอาการแนะนำให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์จะตรวจวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ รวมถึงวิธีการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ ตามความเหมาะสม อย่างการเอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจและนำไปสู่การรักษาโรคได้อย่างถูกวิธี


ฉี่หนู หน้าฝนน้ำท่วมต้องระวังให้หนัก 

รักษาโรคฉี่หนู

การรักษาโรคฉี่หนู แพทย์จะพิจารณาจากอาการและความรุนแรงเป็นหลักโดยมักให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการรักษาตามอาการซึ่งจะต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งเพื่อให้หายจากโรคและป้องกันการติดเชื้อซ้ำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะเข้าสู่กระแสเลือดหรือหากมีอวัยวะเสียหายอาจต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆเพิ่มเติมเช่นถ้าไตเสียหายอาจต้องล้างไตเป็นต้น 


ภาวะแทรกซ้อนของโรคฉี่หนู

  • ไตวายเฉียบพลัน
  • เลือดออกในปอด
  • เกล็ดเลือดต่ำ
  • ตับวาย
  • หัวใจวาย
  • กล้ามเนื้อลายสลายตัว
  • ภาวะแข็งตัวของเลือด
  • ความดันต่ำ

ป้องกันโรคฉี่หนู

  • เลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วม ย่ำโคลน เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นำโรค
  • หากจำเป็นต้องลุยน้ำท่วมให้สวมรองเท้าบู้ตทุกครั้ง
  • อย่าให้บาดแผลสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด
  • หากสัมผัสน้ำที่อาจปนเปื้อนไปแล้วให้ล้างทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วและเช็ดให้แห้ง


แม้โรคฉี่หนูจะรักษาหายได้แต่ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกันสิ่งสำคัญคือป้องกันและสังเกตตัวเองหากมีอาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที


สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 - 20.00 น.

แชร์