โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่ควรต้องรู้

3 นาทีในการอ่าน
โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่ควรต้องรู้

แชร์

สุขภาพของเจ้าตัวเล็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนทั้งห่วงและกังวลใจ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในเด็กที่ควรรู้เนื่องจากพบบ่อยและอาจอันตรายได้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรต้องรู้เท่าทันเพื่อจะได้ดูแลเจ้าตัวเล็กได้อย่างทันท่วงที ไม่ส่งผลกระทบกับพัฒนาการ เติบโตได้แข็งแรงสมวัยในระยะยาว


เด็กกับโรคระบบทางเดินหายใจ

ปัญหาสุขภาพในเด็กมีหลากหลายไม่ต่างกับผู้ใหญ่และแม้ว่าจะป่วยไข้ได้หลายระบบเช่นเดียวกัน แต่ความเจ็บป่วยก็แตกต่างกันกับผู้ใหญ่อยู่ไม่มากก็น้อย ดังนั้นผู้ดูแลควรต้องรู้จักและคอยสังเกตลูกหลานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เด็กวัยต่างกันก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไปได้

ช่วงอายุของเด็กที่ป่วยบ่อยมากคือ วัยเด็กเล็ก ทำให้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่าวัยอื่น ปัญหาที่พบบ่อยคือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ หากผู้ดูแลมีความรู้ในอาการผิดปกติและโรคจะนำไปสู่การรักษาได้อย่างถูกต้อง และอาจไม่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่นการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ไม่สมวัย อารมณ์และพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้


อาการน่าสงสัยของเจ้าตัวเล็ก

อาการของเจ้าตัวเล็กที่ควรต้องสงสัยว่าอาจไม่ใช่ความเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ได้แก่

  • ไอมากจนรบกวนชีวิตประจำวันของเด็กหรือรบกวนผู้คนรอบตัว
  • ไอเป็น ๆ หาย ๆ เป็นมานานเกินกว่า 1 – 2 สัปดาห์
  • ไอหรือหอบเหนื่อย หรือได้ยินเสียงวี๊ด เวลาวิ่งเล่นออกกำลังกายหรือมีอากาศเปลี่ยนแปลง
  • นอนกรนและหรือร่วมกับหายใจสะดุด หยุดหายใจ
  • มีน้ำมูก คัดจมูกเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ หรือหายใจมีเสียงดัง
  • เจ็บหู เจ็บจมูก เจ็บที่ทรวงอก
  • เลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ หรือมีไอเป็นเลือด

โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่ควรต้องรู้

โรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก

หากสังเกตว่าเด็กมีอาการที่ผิดปกติที่กล่าวมาข้างต้น อาจบ่งบอกถึงโรคทางระบบหายใจที่สำคัญ ดังนี้

1) หลอดลมอับเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง

การอักเสบทำให้ไอได้ทั้งแบบไอแห้งและไอเสมหะ ไอได้ทั้งกลางวันและกลางคืน กรณีเฉียบพลันอาจเริ่มด้วยอาการแบบไข้หวัดก่อนได้ แต่มักไอมากและนานกว่าหวัดทั่วไป เชื้อที่ก่อโรคได้บ่อยคือ เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่เชื้อไวรัสที่ระบาดในฤดูฝน เช่น RSV, Rhinovirus มักทำให้เด็กเล็กป่วยเป็นหลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นเป็นปอดอักเสบได้ โดยจะหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ซึม กินน้อย ไข้ หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์ หากไอแห้งเรื้อรังให้ระวังโรคหืด

2) จมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือแพ้อากาศ

เนื่องจากปัจจุบันโรคร้อนขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่อากาศแปรปรวนบ่อย ผู้คนอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น จึงพบบ่อย ๆ ที่เด็กจะมีน้ำมูก คันจมูก จาม คัดแน่นจมูก เป็น ๆ หาย ๆ บางคนอาจร่วมกับมีคันตา เลือดกำเดาไหลเป็น ๆ หาย ๆ เจ็บหู หูอื้อ หูอักเสบบ่อย ๆ อาจมีญาติที่มีอาการคล้ายกัน หากอาการรบกวนชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการนอน ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เด็กกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงฝุ่นควันจากพื้นที่จราจรคับคั่ง ฝุ่น PM2.5  ควันจากการเผาไหม้ต่าง ๆ ควันบุหรี่ ควันธูป กลิ่นสารเคมี เป็นต้น และควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่อากาศไม่ดีและหมั่นล้างจมูก

3) โพรงจมูกและไซนัสอักเสบ

มีสาเหตุได้ทั้งการติดเชื้อและภูมิแพ้ เป็นได้ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง เชื้อก่อโรคมีทั้งไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา หากสังเกตว่ามีน้ำมูกข้น น้ำมูกไหลลงคอ คัดจมูก ไอ ปวดที่ใบหน้า ไข้ มีกลิ่นเหม็นของลมหายใจและกลิ่นปากมานานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ได้

โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่ควรต้องรู้

4) ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน

ตอนนอนจะมีอาการที่สำคัญคือ นอนกรน มีลักษณะหายใจแรง นอนดิ้น มักชอบนอนคว่ำหรือหัวสูง หากรุนแรงจะหายใจสะดุด หยุดหายใจจนต้องนั่งหลับ หากรุนแรงมาก ๆ ทำให้เด็กไม่ได้นอนเป็นปกติ รู้สึกนอนไม่พอ อารมณ์หงุดหงิด ง่วงหลับระหว่างวัน เรียนรู้ลดลง สมาธิลดลงได้ สาเหตุในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต ภาวะอ้วน โครงสร้างใบหน้าผิดปกติ โพรงจมูกและโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น หากเป็นเรื้อรังอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ การเรียนรู้ และอารมณ์ของเด็กได้

5) หลอดลมไวหรือหืด

ถ้าสังเกตว่าลูกหลานมีอาการหอบ ไอ หายใจมีเสียงวี๊ด ๆ เป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งเป็นตอนออกกำลังวิ่งเล่น บางครั้งเป็นตอนค่ำ ๆ หรือมีหวัดแล้วหอบไอมาก เมื่อได้ยาขยายหลอดลมแล้วอาการจะดีขึ้น เด็กบางคนมีประวัติภูมิแพ้ผิวหนัง โพรงจมูก แพ้อาหารอยู่เดิม เด็กบางคนมีประวัติสัมผัสควันบุหรี่ หากสงสัยควรพาไปตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้และด้านทางเดินหายใจ 

6) ภาวะมีสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ

เด็ก ๆ มักซุกซนแล้วนำเอาสิ่งแปลกปลอม เช่น ลูกปัด เศษวัสดุใส่ในรูจมูก แล้วค้างอยู่นานจนทำให้เกิดการติดเชื้อเกิดขึ้น หากสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลมจะทำให้ปอดอักเสบและอาจเป็นซ้ำ ๆ ที่บริเวณเดิมที่สิ่งแปลกปลอมอุดอยู่ ควรป้องกันโดยบอกเด็กไม่ให้กระทำสิ่งอันตรายและกินอาหารให้มีความเรียบร้อย


เพื่อสุขภาพที่ดี ความสุขของเด็ก ๆ และอนาคตที่จะเติบโตอย่างมีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ผู้ดูแลควรเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด หากมีสิ่งใดผิดไปจากปกติควรปรึกษาและพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการดูแลรักษาอย่างเหมะสม


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 4 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 20.00 น.

แชร์