ไตกับผู้สูงอายุ

3 นาทีในการอ่าน
ไตกับผู้สูงอายุ

แชร์

เมื่อตรวจสุขภาพแล้วแพทย์บอกว่าเป็นโรคไตเสื่อม บ่อยครั้งทำให้ผู้สูงอายุตกใจอยู่ไม่น้อย กลัวว่าจะต้องฟอกไตหรือไม่ กังวลว่าสาเหตุเป็นจากอะไร ต้องทำอย่างไรต่อไป ค่าไตจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ จะใช้ยาอะไร ต้องกินยาล้างไตหรือไม่ ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของไตเมื่อย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ

รู้จักค่าไต

อันดับแรกต้องเข้าใจเรื่อง “ค่าไต” กันก่อน เมื่อแพทย์รายงานผลการตรวจเลือด บ่อยครั้งจะได้ยินคำว่าครีทินิน ซึ่งค่า “ครีทินิน” คือ “ค่าไต” ที่แพทย์พูดถึง ค่าครีทินินสูงจะเป็นตัวบ่งบอกการทำงานของไตที่เสื่อมลง ปัจจุบันมีการคำนวณการทำงานของไตที่ละเอียดและเชื่อถือได้มากกว่านั้น คือการคำนวนค่า “จีเอฟอาร์” ซึ่งการคำนวณค่าดังกล่าวต้องอาศัยค่าครีทินินในการคำนวณด้วย และค่าจีเอฟอาร์ที่ลดลงจะบ่งบอกถึงการทำงานของไตที่ลดลงไปในทิศทางเดียวกัน


การเปลี่ยนแปลงของไต

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ไตจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านโครงสร้างและการทำงานโดยรวม โดยไตจะมีขนาดเล็กลง น้ำหนักและปริมาตรจะลดลง ถ้าลองเปรียบเทียบกับคนหนุ่มสาว ไตปกติจะน้ำหนักประมาณ 245 – 290 กรัม แต่เมื่ออายุมากขึ้น เช่น อายุ 90 ปี น้ำหนักของไตจะลดลง 15 – 20% จากเดิม เหลือเพียง 180 – 200 กรัม การเปลี่ยนแปลงในเชิงจุลภาคก็เกิดขึ้น กล่าวคือ ความสามารถของหน่วยไตในการกรองของเสียและน้ำ และการกักเก็บโปรตีนเข้าสู่กระแสเลือดจะลดลง เนื่องจากองค์ประกอบของหน่วยไตและเส้นเลือดในหน่วยไตโดยรวมนั้นจะฝ่อลงตามอายุ เริ่มมีพังผืดเข้ามาสะสมในหน่วยไต มีการหลั่งสารบางอย่างในร่างกาย รวมทั้งอนุมูลอิสระ และสารกระตุ้นการอักเสบ ซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายโครงสร้างของไต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปอย่างปกติตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน โรคเครียด ฯลฯ หรือมีการรับประทานอาหารที่มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต หรือไขมันที่สูงมากเกินไปจนร่างกายเผาผลาญนำไปใช้ได้ไม่หมด ก็จะส่งผลเร่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ


ข้อสำคัญคือในผู้สูงอายุเมื่อเกิดความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บของไตขึ้น การฟื้นฟูสภาพให้กลับมาดีดังเดิมนั้นจะค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับไตของคนหนุ่มสาว มีรายงานว่า การเสื่อมของไตที่เพิ่มขึ้นจะส่งเสริมอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มากขึ้นตามมา

ในขณะเดียวกันก็มีการศึกษาถึงปัจจัยที่ช่วยในการรักษาสภาพของไตและชะลอความเสื่อมของไตไว้ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม วิตามินดี วิตามินอี ยีนบางชนิด เป็นต้น ว่าอาจช่วยชะลอการดำเนินโรคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ด้วยเช่นกันว่าจะเหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคนหรือไม่ นอกจากการใช้ยาแล้ว พบว่าการจำกัดแคลอรี่ในการรับประทานอาหารต่อวัน โดยลดปริมาณแคลอรี่ที่รับประทานลงจากเดิมไปประมาณ 25 – 45% แต่ยังคงแร่ธาตุ กรดอะมิโน และวิตามินที่จำเป็นไว้เท่าเดิม รวมถึงการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูงจะช่วยชะลอการเกิดโรคไตเสื่อม โรคหัวใจ และหลอดเลือดได้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงการทำงานของไตนั้น พบว่าทุก ๆ 10 ปี ของอายุที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง 10% จากเดิม การทำงานของไต หรือ ค่าจีเอฟอาร์จะลดลง และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง นอกจากนี้การตอบสนองต่อฮอร์โมน และสารสื่อประสาทที่มีผลต่อไตจะลดลงเช่นกัน

ในผู้สูงอายุหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตจะมีการขยายตัวได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่ในทางกลับกันการหดตัวของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตกลับมีอัตราที่พอ ๆ กันระหว่างคน 2 กลุ่ม ดังนั้นโดยรวมแล้วในผู้สูงอายุจะมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไตลดลง เมื่อประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของไตที่เสื่อมลงด้วยแล้วจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดการดำเนินไปสู่โรคไตเสื่อมเรื้อรังมากขึ้น

ในด้านการปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ความสามารถในการดูดกลับหรือขับออกของโซเดียมที่ไตลดลง การขับกรดออกจากร่างกายลดลง หากร่วมกับการรับประทานอาหารโปรตีนสูงเกินไปจะยิ่งเพิ่มสภาวะเลือดเป็นกรดมากขึ้น หากสภาวะเลือดเป็นกรดเกิดขึ้นเรื้อรังจะมีการสลายแคลเซียมและไบคาร์บอเนตออกมาจากกระดูก ทำให้การดูดซึมแคลเซียมที่ไตลดลงและเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา


ในด้านสมดุลของโพแทสเซียมในร่างกายในผู้สูงอายุนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วโพแทสเซียมโดยรวมในร่างกายจะต่ำลงเนื่องจากกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุมีน้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่โพแทสเซียมในเลือดมักจะสูงขึ้น เพราะเลือดไปเลี้ยงไตลดลงตามอายุ การขับโพแทสเซียมจะลดลง การผลิตฮอร์โมนที่ช่วยดูดกลับโพแทสเซียมก็ลดลง

ในด้านสมดุลของแคลเซียมนั้น พบว่าระหว่างคนหนุ่มสาวและคนแก่การดูดกลับและขับแคลเซียมออกทางไตนั้นมีอัตราที่พอ ๆ กัน  แต่ในผู้สูงอายุการดูดกลับแคลเซียมทางลำไส้นั้นน้อยกว่าคนหนุ่มสาวมาก  รวมทั้งมีการสร้างฮอร์โมนพาราไทรอยด์มามากกว่าปกติ  ฮอร์โมนพาราไทรอยด์นั้นใช้ในการสลายแคลเซียมจากกระดูกออกมาในกระแสเลือด ซึ่งในผู้สูงอายุการตอบสนองต่อฮอร์โมนดังกล่าวจะไวกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้นจะส่งเสริมการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายกว่าปกติ

ในส่วนของวิตามินดีนั้น อย่างไรก็ตามแม้วิตามินดีที่สร้างจากไตจะลดลง แต่โดยรวมแล้ววิตามินดีในกระแสเลือดระหว่างสองกลุ่มนี้นั้นมีปริมาณที่พอ ๆ กัน นอกจากนี้ในผู้สูงอายุยังมีความสามารถการดูดกลับฟอสเฟตที่ไต และลำไส้ลดลงด้วย ดังนั้นมีโอกาสที่จะเกิดฟอสฟอรัสในเลือดต่ำได้มาก


โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะการเปลี่ยนแปลงของไตที่เกิดตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นไปได้หลายทางเลยทีเดียว ในปัจจุบันคนเราอายุยืนมากขึ้น อยู่กับความเสื่อมของไตยาวนานขึ้น หากไม่ชะลอการเสื่อมของไตก็อาจต้องเจอกับภาวะไตเสื่อมในระยะสุดท้าย ซึ่งต้องรักษาโดยการฟอกไตในที่สุด


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์
ชั้น 1 อาคาร R
เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 - 15.00 น.

แชร์