ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัยกับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)

2 นาทีในการอ่าน
ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัยกับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)

แชร์

หลายคนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) เพื่อแก้ปัญหาสายตาสั้น เอียง และยาว และนี่คือคำถามที่คนสงสัยและคำตอบที่ช่วยสร้างความมั่นใจเพิ่มความสบายใจกับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)

 

ถาม : เลนส์เสริม (ICL) แตกต่างจากเลสิกอย่างไร

ตอบ : เลนส์เสริม (ICL) เป็นการแก้ไขปัญหาสายตา โดยการใช้เลนส์ที่มีความปลอดภัยกับร่างกายใส่เข้าไปหลังกระจกตา สามารถถอดออกได้โดยจักษุแพทย์ ไม่ทำให้เนื้อเยื่อของดวงตาสูญเสียไป ส่วนเลสิกเป็นการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยเลเซอร์ โดยปรับความโค้งของกระจกตา จึงทำให้กระจกตาต้องบางลง ดังนั้นบางท่านอาจทำเลสิกไม่ได้ถ้ากระจกตาไม่หนาพอ

 

ถาม : การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) แก้ไขความผิดปกติของสายตาได้มากน้อยเพียงใด

ตอบ : การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) สามารถแก้ไขสายตาสั้นได้ตั้งแต่ -0.50 ถึง -18.00 สายตาเอียงได้ -0.25 ถึง -6.00

 

ถาม : ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ทำให้ตาแห้งหรือไม่อย่างไร

ตอบ : เนื่องจากการใส่เลนส์เสริม (ICL) ไม่ได้มีการทำลายของเส้นประสาทของผิวกระจกตา ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นน้ำตา เลนส์เสริมจึงไม่ทำให้ตาแห้งขึ้น

 

ถาม : สายตาสั้นไม่มากสามารถผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ได้หรือไม่อย่างไร

ตอบ : ได้ เพราะการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) สามารถแก้ไขสายตาสั้นได้ตั้งแต่ -0.50 ถึง -18.00 และสายตาเอียงได้ 0.25 ถึง -6.00

 

ถาม : หลังผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ใส่คอนแทคเลนส์สีได้ไหม

ตอบ : ได้ หลังจากผ่าตัดประมาณ 1 เดือน ถ้าไม่มีอาการตาแห้งสามารถใส่คอนแทคเลนส์สีได้ตามปกติ

 

ถาม : ผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) เจ็บไหม

ตอบ : การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ใช้ยาชาหยอดและฉีด ทำให้ไม่มีอาการเจ็บระหว่างทำ แต่อาจมีเพียงความรู้สึกของการถูกแตะหรือหน่วง ๆ ตาบ้างระหว่างทำ ขณะทำผู้ป่วยสามารถพูดสื่อสารบอกอาการกับแพทย์ได้ตลอดเวลา

 

ถาม : การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ทำพร้อมกันทั้งสองข้างได้หรือไม่อย่างไร

ตอบ : สามารถทำได้วันละ 1 ข้างหรือ 2 ข้างพร้อมกันได้ โดยควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตัดสินใจร่วมกัน

 

ถาม : หากดวงตาข้างหนึ่งทำเลสิกอีกข้างหนึ่งผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ส่งผลต่อการใช้งานหรือไม่ ควรดูแลอย่างไร

ตอบ : โดยทั่วไปแนะนำให้ใส่เลนส์เสริม (ICL) ทั้งสองข้าง แต่ถ้าจะทำต่างกันก็ไม่เป็นปัญหาสามารถใช้งานดวงตาได้ตามปกติ

 

ถาม : หลังผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ตอนกลางคืนจะเห็นการกระจายของแสงไฟเหมือนการทำเลสิกหรือไม่

ตอบ : ไม่มีแสงกระจายเหมือนการทำเลสิก เนื่องจากขนาด Optic ของเลนส์เสริม (ICL) ค่อนข้างกว้างครอบคลุมขนาดม่านตาที่ขยายตอนกลางคืนได้

 

ถาม : ผู้สูงวัยสามารถผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ได้หรือไม่อย่างไร

ตอบ : ถ้ายังไม่เป็นต้อกระจกก็สามารถผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) ได้ โดยทั่วไปแนะนำให้ทำในผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปี กรุณาปรึกษาจักษุแพทย์เรื่องต้อกระจก ซึ่งการรักษาแตกต่างกันไปในแต่ละคน

 

ถาม : หากต้องการนำเลนส์เสริม (ICL) ออกจากดวงตามีขั้นตอนอย่างไร มักเป็นเพราะสาเหตุใด

ตอบ : เลนส์เสริม (ICL) เป็นวัสดุที่ไม่มีปฏิกิริยากับร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดพังผืด ดังนั้นการเอาออกจากดวงตาทำได้ไม่ยาก ลักษณะคล้าย ๆ กับตอนใส่เลนส์ ส่วนใหญ่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในการนำเลนส์เสริม (ICL) ออกจากดวงตา เช่น เมื่ออายุมากขึ้นเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดลอกต้อกระจกก็ต้องดึงเลนส์เสริม (ICL) ออกพร้อมกันไปด้วย นอกจากนี้เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ความดันลูกตาขึ้นสูงเกินไปแม้จะรักษาด้วยยาแล้ว เมื่อนำเลนส์เสริม (ICL) ออก ความดันลูกตาจะกลับมาปกติ

 

ถาม : การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL) มีอายุการใช้งานหรือไม่อย่างไร 

ตอบ : เลนส์เสริม (ICL) ทำจากส่วนประกอบที่ทนทานและไม่มีปฏิกิริยากับร่างกายมนุษย์สามารถอยู่ในลูกตาได้ตลอดชีวิต

 

ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัยกับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เลสิก
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์ - เสาร์ 08.00 - 17.00 น.
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์