Genetic Testing ตรวจยีนเช็กโอกาสก่อนเกิดโรค
3 นาทีในการอ่าน

แชร์
การรู้ถึงโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ ไม่เพียงช่วยให้ดูแลและป้องกันโรคได้อย่างถูกวิธี แต่ยังสามารถตรวจเช็กสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจ Genetic Testing หาความผิดปกติของยีนลึกลงไปถึงดีเอ็นเอจึงไม่เพียงช่วยประเมินความเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ยังเป็นการกำหนดพฤติกรรมสุขภาพเพื่อการมีอายุที่ยืนยาว
กลไกการเกิดโรคกับพันธุกรรม
กลไกการเกิดโรคกับพันธุกรรมหลัก ๆ ได้แก่
- Genotype รูปแบบของยีนภายในที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของพันธุกรรม หากมีการกลายพันธุ์ของยีนบางยีนบางตำแหน่ง ซึ่งมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง อาจทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายได้ แต่ไม่ใช่ทุกความผิดปกติของยีนจะทำให้เกิดโรคเสมอไป บางคนอาจไม่เป็นโรคก็ได้
ปัจจัยที่ทำให้ความผิดปกติในระดับยีนส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่างกายได้แก่- Penetrance คือ เปอร์เซ็นต์ที่อธิบายความถี่ของการแสดงออกของยีนโดยอธิบายว่า หากพบความผิดปกติของยีนนั้น ๆ ความน่าจะเป็นที่ผู้มียีนกลายพันธุ์จะแสดงลักษณะนั้น ๆ ออกมาจะเป็นเท่าใด
- Epigenetic คือ กระบวนการควบคุมเหนือพันธุกรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานหรือพฤติกรรมของยีนนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในระดับ DNA มีบทบาทในการควบคุมการแสดงออกของยีนที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ต่างกันออกไป โดยมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เข้ามาส่งผลให้ยีนแสดงออกทางร่างกายต่างกัน และมีผลต่อความไวในการก่อโรคที่ต่างกันของแต่ละบุคคลตลอดทุกช่วงชีวิต
- Environmental Factors คือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ อาหาร การนอนหลับ วิธีออกกำลังกาย ความเครียด ฯลฯ ที่ส่งผลให้บุคคลหนึ่ง ๆ เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นได้
- Phenotype คือ ลักษณะของยีนที่แสดงออกมาเป็นความผิดปกติของร่างกาย หรือการเกิดโรคต่าง ๆ อาจแบ่งออกเป็น
- ระดับไม่รุนแรง (Mild)
- ระดับปานกลาง (Moderate)
- ระดับรุนแรง (Severe)
ตรวจยีนบอกโรค
การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) เป็นการตรวจวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของยีนในดีเอ็นเอที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล โดยจะมีการวิเคราะห์ในแต่ละโรคว่าต้องดูยีนใดบ้าง จากนั้นจึงเข้าไปตรวจตำแหน่งยีนนั้นว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะมีการคำนวณคะแนนเพื่อประเมินผลว่าผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร โดยหลักการที่นำมาใช้จะเป็นการวิเคราะห์เชิงสถิติ นำคะแนนที่ได้ไปเทียบกับคะแนนประชากร (Score Population) ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน คะแนนสูงไม่ได้หมายความว่าจะป่วยเป็นโรคเสมอไป และไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเกิดหรือไม่เกิดโรค แต่เป็นการบอกความเสี่ยงจากพันธุกรรมว่านำไปสู่โอกาสในการเกิดโรคนั้น ๆ ได้ นำมาซึ่งการตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียดและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค
หลักการตรวจและการแปลผล
การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) มีขั้นตอนดังนี้
- ตรวจสอบความแปรผันทางพันธุกรรมจากหลาย ๆ ตำแหน่งบนสาย DNA ของแต่ละบุคคล ผลที่ได้จะนำไปผ่านอัลกอริธึมเฉพาะเพื่อคำนวณออกมาเป็นคะแนนและแนวทางการดูแลสุขภาพก่อนเกิดโรคหรือภาวะสุขภาพต่าง ๆ
- ผลการตรวจจะนำคะแนนของผู้เข้ารับการตรวจมาคำนวณเพื่อแสดงเป็นแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม
- ทำการวิเคราะห์ผลของผู้เข้ารับการตรวจเปรียบเทียบกับคะแนนของการเกิดโรคเดียวกันในประชากรทั่วไปเพื่อให้ทราบว่าคะแนนของผู้เข้ารับการตรวจมีมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ
- ไม่ว่าผลที่ได้จะแสดงระดับการดูแลในระดับปกติ ใส่ใจ หรือใส่ใจเป็นพิเศษ สิ่งที่ต้องทราบ คือ
- สาเหตุของโรคหรือความเจ็บป่วยต่าง ๆ เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม การดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อม การตรวจพบคะแนนทางพันธุกรรมสูงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดโรคอย่างแน่นอน
- การตรวจพบปัจจัยทางพันธุกรรมช่วยให้เริ่มสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย รวมถึงอาการของโรคต่าง ๆ และดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง เพราะแม้ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ติดตัวมาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัจจัยด้านการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้
- หากตรวจพบปัจจัยทางพันธุกรรมในระดับใส่ใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ หรือมีอาการผิดปกติ แนะนำให้นำผลการตรวจไปพบแพทย์ที่มีความชำนาญเพื่อปรึกษาและร่วมกันวางแผนการตรวจเพิ่มเติมหรือการดูแลรักษาต่อไป
เทคนิคดูแลสุขภาพองค์รวม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ควบคุมน้ำหนัก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดสูบบุหรี่
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
- ตรวจสุขภาพทั่วไปเป็นประจำทุกปี
ประโยชน์ของ GENETIC TESTING
- วางแผนการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
- ตรวจสุขภาพได้แบบเฉพาะเจาะจง
- ป้องกันโรคได้ในระยะยาว
- ตรวจเจอโรคในระยะแรกเริ่ม รักษาได้ไว ลดความรุนแรง
- ลดอัตราการเกิดโรคต่าง ๆ
- มีคุณภาพชีวิตที่ดี
สอบถามเพิ่มเติมที่
แชร์