นิ่วในถุงน้ำดี ท้องอืดท้องเฟ้ออาจอันตรายกว่าที่คิด

6 นาทีในการอ่าน
นิ่วในถุงน้ำดี ท้องอืดท้องเฟ้ออาจอันตรายกว่าที่คิด

โรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่สามารถเกิดขึ้นได้และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยพบได้ตั้งแต่อายุ 30 – 50 ปี ความน่าสนใจของโรคนี้คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารจึงหายามารับประทานเอง จนกระทั่งอาการรุนแรงจึงมารับการรักษา เพราะฉะนั้นการรู้ทันโรคนิ่วถุงน้ำดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

 

หน้าที่ของถุงน้ำดีคืออะไร

ถุงน้ำดี (Gallbladder) คือ อวัยวะบริเวณช่องท้องที่ทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำดี ทำให้น้ำดีเข้มข้นเพื่อพร้อมสำหรับย่อยไขมัน ถุงน้ำดีไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตน้ำดีโดยตรง แต่จะรับน้ำดีที่ผลิตจากตับมาเก็บไว้ช่วงที่เรายังไม่ได้รับประทานอาหาร ดังนั้นการที่เราไม่มีถุงน้ำดีไม่ได้ทำให้เราขาดน้ำดีอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด

โรคนิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร

นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี ทำให้เกิดนิ่ว โดยลักษณะนิ่วมี 3 ประเภท ได้แก่

  1. นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) อาจเป็นสีเหลือง ขาว เขียวเกิดจากการตกตะกอนไขมัน เนื่องจากคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี 
  2. นิ่วจากเม็ดสี (Pigment Stones) อาจเป็นสีคล้ำดำ เกิดจากความผิดปกติของเลือด โลหิตจาง ตับแข็ง 
  3. นิ่วโคลน (Mixed Gallstones) เป็นคล้ายโคลน เหนียว หนืด เกิดจากการติดเชื้อใกล้ตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร

นิ่วในถุงน้ำดีสาเหตุมาจากการตกผลึกของแคลเซียมหรือหินปูน คอเลสเตอรอล และบิลิรูบินในน้ำดี โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกมาจากทางเดินน้ำดีเกิดการติดเชื้อและส่วนประกอบคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดีขาดสมดุล เมื่อตกผลึกทำให้เกิดนิ่วลักษณะเป็นก้อน อาจเป็นก้อนเดียวหรือก้อนเล็ก ๆ หลายก้อน ซึ่งนิ่วในถุงน้ำดีที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากคอเลสเตอรอล แสดงถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีผลต่อนิ่วถุงน้ำดีโดยตรง

นิ่วในถุงน้ำดี ท้องอืดท้องเฟ้ออาจอันตรายกว่าที่คิด

นิ่วในถุงน้ำดีอาการเป็นอย่างไร

นิ่วในถุงน้ำดีอาการเริ่มต้นอาจไม่ปรากฏ ผู้ป่วยส่วนมากมักตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตราซาวนด์โดยไม่ได้มีอาการผิดปกติ ในคนไข้ที่มีอาการอาจมีอาการแสดงได้หลากหลาย ขึ้นกับความรุนแรงของโรค อาการที่อาจพบได้ เช่น 

  • ท้องอืด
  • แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารไขมันสูง เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
  • ปวดใต้ลิ้นปี่ / ชายโครงด้านขวา 
  • ปวดร้าวที่ไหล่ / หลังขวา 
  • คลื่นไส้อาเจียน (ถุงน้ำดีติดเชื้อ) 
  • มีไข้หนาวสั่น 
  • ดีซ่าน / ตัวตาเหลือง (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
  • ปัสสาวะสีเข้ม (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
  • อุจจาระสีขาว (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)

ลักษณะสำคัญของอาการจากนิ่วในถุงน้ำดีคือ อาการมักเกิดหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง มักมีอาการมากหลังอาหารมื้อเย็นหรือตอนกลางคืน 

ทั้งนี้ก้อนนิ่วที่ตกตะกอนอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าผลบลูเบอร์รีหรือไข่แดงของไข่นกกระทา จำนวนมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนไปจนถึงหลายร้อยก้อนได้ หากมีขนาดใหญ่ยังอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี

  • เพศหญิง 40 ปีขึ้นไป 
  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักมาก 
  • คอเลสเตอรอลสูง
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคเลือด โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
  • ตั้งครรภ์หลายครั้ง
  • กินยาคุมกำเนิด
  • ทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่อดอาหาร (ถือศีลอด) หรือลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
  • ทานยาลดไขมันในเลือดบางชนิด
  • พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัว

ทำไมนิ่วถุงน้ำดีพบมากในผู้หญิงวัย 40+

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในผู้หญิงวัย 40 ปี นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงขึ้น ดังนั้นถ้าหากมีไขมันในเลือดสูง ทานยาคุมกำเนิดหรือทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน มีบุตรหลายคน เป็นโรคเบาหวาน โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีทั้งสิ้น ดังนั้นหากสงสัยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอัลตราซาวนด์โดยเร็วที่สุด ซึ่งอาการนิ่วในถุงน้ำดีผู้หญิงมักมีอาการปวดท้องจุกแน่นนานหลายชั่วโมงแล้วไม่หายจนมาตรวจกับแพทย์แล้วพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีกับผู้สูงอายุมากกว่า 60 ต้องระวังอะไร

ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นนิ่วถุงน้ำดี โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต โรคธาลัสซีเมีย หากมีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ แล้วไม่หายควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กโดยเร็ว หากพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีช่วงสูงวัย แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีออกเพื่อให้หายขาด เว้นแต่กรณีที่ร่างกายผู้ป่วยไม่พร้อมอาจเริ่มจากการรักษาตามอาการ ทั้งนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

นิ่วในถุงน้ำดี ท้องอืดท้องเฟ้ออาจอันตรายกว่าที่คิด

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีที่ดีที่สุดคือ การพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะให้ทำการอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน เพื่อให้เห็นรายละเอียดของก้อนนิ่วในถุงน้ำดีชัดเจน

นิ่วในถุงน้ำดีรักษาอย่างไร

นิ่วในถุงน้ำดีไม่จำเป็นต้องรักษาเสมอไป หากผู้ป่วยตรวจพบโดยบังเอิญและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ไม่มีความจำเป็นต้องรักษาหรือติดตาม ในผู้ป่วยกลุ่มนี้โอกาสที่จะเกิดอาการในอนาคตมีเพียง 1% – 2% ต่อปีเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำการรักษาในคนที่ไม่มีอาการ

ในทางตรงข้ามผู้ป่วยที่มีอาการจากนิ่วในถุงน้ำดี ถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นเอง แต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้บ่อยถึง 15% – 20% แพทย์จึงมักแนะนำให้รักษาในผู้ป่วยที่มีอาการแล้วทุกราย นอกจากนี้แพทย์ยังอาจแนะนำให้ทำการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการบางรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งถุงน้ำดี เช่น พบนิ่วขนาดใหญ่ พบนิ่วร่วมกับติ่งเนื้อในถุงน้ำดี เป็นต้น 

การรักษานิ่วในถุงน้ำดีโดยการรับประทานยาและไม่ผ่าตัดยังไม่เป็นที่แนะนำในปัจจุบัน เนื่องจากได้ผลไม่ดีเมื่อเทียบกับการผ่าตัด กล่าวคือผู้ป่วยครึ่งหนึ่งที่รับประทานยาพบว่านิ่วไม่หายไป และเกือบ 80% ของผู้ป่วยที่ไม่ผ่าตัดมักมีอาการจนต้องเข้ารับการผ่าตัดภายใน 2 ปี

นิ่วในถุงน้ำดีวิธีรักษาหลักคือ การผ่าตัดเพื่อตัดถุงน้ำดีออกพร้อมนิ่ว ทั้งนี้เนื่องจากเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ปกติโดยไม่มีถุงน้ำดี และหากยังมีถุงน้ำดีอยู่ก็จะมีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดีซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ ซึ่งการผ่าตัดมี 2 แบบ ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง โดยแพทย์จะทำการผ่าเปิดบริเวณช่องท้องบริเวณชายโครงขวา วิธีนี้มักใช้รักษาผู้ป่วยกรณีที่มีการอักเสบรุนแรงและถุงน้ำดีแตกทะลุในช่องท้อง เหมาะสำหรับผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดหน้าท้องมาก่อน หรือผู้ที่มีปัญหาพังผืดจำนวนมากจนไม่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้ ซึ่งการผ่าเปิดผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นค่อนข้างนาน 
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) โดยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ จากนั้นใส่กล้องเข้าไปเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนทุกมิติ ก่อนจะตัดขั้วและเลาะถุงน้ำดีให้หลุดออก วิธีนี้นอกจากช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน แผลยังมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ลดโอกาสการติดเชื้อ ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ไม่ต้องพักฟื้นนาน  นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการผ่าตัดส่องกล้องด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอันจะช่วยเพิ่มผลสำเร็จโดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยที่ยุ่งยากซับซ้อนอีกด้วย หลังจากผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการย่อยอาหาร เพราะถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดี ไม่ได้เป็นที่ผลิตน้ำดีแต่อย่างใด หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะยังมีน้ำดีที่ผลิตจากตับเพื่อช่วยย่อยอาหารตามปกติ แต่ควรลดของมัน เน้นทานผักและปลามากขึ้น เพื่อไม่ให้ท้องอืดและมีสุขภาพดีในระยะยาว

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ 6 – 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • หากมีโรคประจำตัวต้องแจ้งแพทย์เพื่อให้แพทย์แนะนำการงดหรือรับประทานยาอย่างเหมาะสม และควรนำยาโรคประจำตัวติดตัวมาด้วย 
  • งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
  • กรณีที่ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 20 ปีต้องมีผู้ปกครองมาด้วยทุกครั้ง

ดูแลหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ช่วงพักฟื้นที่โรงพยาบาลควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และสังเกตความผิดปกติหลังผ่าตัด หากมีอาการปวด บวม แดงบริเวณแผล หรือมีอาการปวดท้องมาก มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลืองให้แจ้งแพทย์ทันที เมื่อกลับบ้านควรลุกเดินต่อเนื่อง รับประทานอาหารกากใยสูง ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ไม่เบ่งขณะขับถ่าย ห้ามยกของหนักหรือออกกำลังกาย 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด และมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

นิ่วในถุงน้ำดี ท้องอืดท้องเฟ้ออาจอันตรายกว่าที่คิด

ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างไร

การป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดีสามารถทำได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เลี่ยงของมัน ของทอด ของหวาน ระวังไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ที่สำคัญตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติในลักษณะที่ชวนสงสัยรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจรุนแรงถึงขั้นถุงน้ำดีเน่า ถุงน้ำดีแตกจนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้ในอนาคต

นิ่วในถุงน้ำดีหายเองได้ไหม

นิ่วในถุงน้ำดีไม่สามารถหายได้เอง ความเชื่อที่ว่านิ่วจะสลายไปเองหรือหลุดเองได้นั้นไม่จริง ยิ่งปล่อยไว้นานไม่รีบรักษา นอกจากความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา รวมถึงการกินยาสลายนิ่วหรือคลื่นเสียงสลายนิ่วก็ไม่สามารถรักษานิ่วในถุงน้ำดีได้ วิธีการดังกล่าวเป็นการรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีสาเหตุและการรักษาแตกต่างกับนิ่วในถุงน้ำดีอย่างสิ้นเชิง ผู้ป่วยมักสับสนและมีความเข้าใจผิดระหว่างสองภาวะนี้ วิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับนิ่วในถุงน้ำดีคือการผ่าตัดเพื่อให้หายขาดจากโรค

โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษานิ่วถุงน้ำดีที่ไหนดี

ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจในทุกการผ่าตัด และกลับไปใช้ชีวิตอย่างมั่นใจในทุกวัน

แพทย์ที่ชำนาญการรักษานิ่วในถุงน้ำดี

ผศ.นพ.สุปรีชา อัสวกาญจน์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดช่องท้อง โรคตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

แพ็กเกจการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี

แพ็กเกจการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ราคาเริ่มต้นที่ 22,000 บาท

คลิกที่นี่ 

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด