ตรวจเช็กสุขภาพหลอดเลือดก่อนสาย

2 นาทีในการอ่าน
ตรวจเช็กสุขภาพหลอดเลือดก่อนสาย

แชร์

หลอดเลือดตีบตันเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งและมักเป็นร่วมกัน ตั้งแต่หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดส่วนปลายของแขนขา ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายร้ายแรง ดังนั้นการตรวจเช็กสุขภาพหลอดเลือดส่วนปลาย ด้วย Pulse Volume Recoding (PVR) จะช่วยให้รู้ทันความเสี่ยงและแนวโน้มการตีบตันที่อาจเกิดขึ้น ทำให้รักษาได้ทันท่วงทีก่อนสายเกินแก้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่มีค่า ABI น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.9 มีอาการปวดน่องและกล้ามเนื้อ หรือมีแผลเบาหวาน แผลเรื้อรัง เป็นต้น    

หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Arterial Disease – PAD) เกิดจากการที่ตะกอนติดตามผนังด้านในเส้นเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เส้นเลือดแดงส่วนปลายที่แขนและขาตีบและอุดตัน ซึ่งความรุนแรงของโรคมีหลายระดับขึ้นอยู่กับระดับการอุดตัน 

อาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ ปวดขา ปวดน่อง เริ่มจากปวดเวลาเดิน จนเมื่อเป็นมากขึ้นก็จะปวดตลอดแม้ไม่ได้เดิน จนเป็นถึงขั้นมีแผลเรื้อรังที่เท้าหรือนิ้วเท้า รักษาแล้วไม่หายหรือเป็นหนักมากขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดแดงตีบแคบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงน้อยลง โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี โรคไต ไขมันพอกผนังด้านในเส้นเลือด เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน มักใช้การทำ ABI คือ วัดความดันเลือดที่แขนและขาแล้วมาเทียบกัน ปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพหลอดเลือดด้วย Pulse Volume Recoding (PVR) ที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัย ทำให้วิเคราะห์สมรรถภาพหลอดเลือดตีบแข็งได้ชัดเจน รู้ความเสี่ยงและแนวโน้มการอุดตันของหลอดเลือดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


การตรวจ PVR
เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคไต เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน (แขน – ขา)
    • มีค่า Ankle – Brachial Index (ABI) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.9 (บ่งชี้ว่ามีการอุดตันของหลอดเลือด)
    • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี
  • มีอาการปวดน่องและกล้ามเนื้อ หรือเป็นตะคริวเวลาเดิน
  • ชีพจรที่ขาหรือเท้าอ่อนแรงหรือขาดหายไป สีผิวซีด
  • มีแผลที่เท้าหรือนิ้วเท้า เท้าผิดรูป เสี่ยงต่อการเป็นแผล
    • มีแผลเบาหวาน แผลเรื้อรังที่นิ้วเท้าหรือขา
  • หลังทำ AVF AVG  (เส้นเลือดสำหรับล้างไต) มีอาการมือเย็น ปวด
  • ผู้ป่วยโรคไต ภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic Renal Insufficiency)
  • คนปกติที่ไม่มีอาการใด ๆ สามารถตรวจได้***



ตรวจเช็กหลอดเลือดก่อนตีบ

การตรวจหลอดเลือดตีบแข็ง ด้วย Pulse Volume Recoding (PVR) เพื่อวิเคราะห์หลอดเลือดแดงผ่านการวัดความดันโลหิตที่แขนและขา ควบคู่กับปริมาตรชีพจร PVR แล้วนำค่าที่ได้มาคำนวนความเสี่ยง โดยมีขั้นตอนการตรวจคือ ให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจ จากนั้นพัน Cuff BP บริเวณแขนและขา ใช้หัว Prove ตรวจบริเวณใต้ Cuff BP ที่พันไว้เพื่อหาชีพจรจากเส้นเลือดแดง โดยจะใช้เวลาในการตรวจ 1 – 1.5 ชั่วโมง จึงได้ผลการตรวจที่ชัดเจนน่าเชื่อถือ

 

สำหรับการรักษาหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค บางคนสามารถรักษาแบบประคับประคอง ใช้ยาควบคุมเบาหวาน ออกกำลังกาย เป็นต้น แต่หากอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการทำบอลลูน ใส่สเตนต์ หรือบางคนอาจต้องรับการผ่าตัด ทำบายพาส เป็นต้น เพราะฉะนั้นการตรวจเช็กสุขภาพหลอดเลือดทุกปีภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัดจะช่วยให้รู้ทันความเสี่ยงการอุดตันของหลอดเลือด รักษาได้เร็ว ลดความรุนแรง และการสูญเสียอวัยวะ


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หลอดเลือด
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์