8 ไอเดียปรับบ้าน ลดความเสี่ยงกระดูกหักในผู้สูงอายุ

3 นาทีในการอ่าน
8 ไอเดียปรับบ้าน ลดความเสี่ยงกระดูกหักในผู้สูงอายุ

แชร์

การหกล้มเป็นอุบัติเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บ กระดูกหัก พิการ หรือบางครั้งถึงขั้นเสียชีวิต ที่น่าสนใจคือ 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุในผู้สูงอายุเกิดขึ้นที่บ้าน สถานที่ที่คิดว่าปลอดภัย แต่สำหรับผู้สูงวัยแล้วบ้านอาจอันตรายกว่าที่คิดหากเราไม่เตรียมพร้อม ลองมาดู 8 ไอเดียที่จะทำให้บ้านของคุณปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยมากขึ้น

  1. พื้นไม่ลื่น

ติดแผ่นกันลื่นในจุดเสี่ยง หากจะปรับปรุงพื้นบ้านให้เลือกใช้วัสดุจำพวกพื้นไม้หรือไม้สังเคราะห์ กระเบื้องแกรนิตโต้ สำหรับห้องน้ำควรเลือกกระเบื้องผิวด้านหรือกระเบื้องที่มีผิวสัมผัสเป็นลวดลาย ขนาดของกระเบื้อง ควรเลือกแผ่นเล็ก เพราะมีร่องยาแนวที่ถี่กว่า ซึ่งจะช่วยให้เกิดแรงเสียดทานมากกว่า ช่วยลดโอกาสการลื่นล้มของผู้สูงอายุ ที่สำคัญควรเป็นสีที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างพื้นกับผนัง

  1. ทางลาดจำเป็น

ทำทางลาดไว้ตรงบันไดต่าง ๆ เพื่อช่วยผ่อนแรงสำหรับผู้ที่ต้องนั่งเก้าอี้ล้อ โดยให้มีความชันไม่เกิน 5 องศา และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร และควรทำชานพักสำหรับทางลาดทุกระยะให้มีความยาวไม่เกิน 6 เมตร โดยเฉพาะหน้าประตูห้องเพื่อป้องกันไม่ให้เก้าอี้ล้อลื่นไถลขณะเปิดประตูจนเกิดพลิกล้มได้

  1. ขนาดเตียงสำคัญ

เลือกเตียงที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร และสูงประมาณ  40 เซนติเมตร (สำหรับการใช้รถเข็น) หรือให้สูงจากพื้นถึงข้อพับเข่า โดยให้รอบเตียง 3 ด้านมีพื้นที่ว่างด้านละ 90 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้ทรงตัวลุกเดินสะดวกและป้องกันขากระแทกกับเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของในกรณีที่พื้นที่แคบเกินไป

  1. ประตูเข้าออกง่าย

เลือกใช้ประตูที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร หรือมีความกว้างมากกว่าความกว้างของเก้าอี้ล้อเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนตัว ส่วนมือจับประตูควรเป็นแบบก้านโยกที่ไม่ต้องอาศัยแรงบิด ช่วยผ่อนแรงผู้สูงอายุได้ดี

  1. ราวจับตามจุดต่าง ๆ

ควรติดตั้งราวจับตามจุดต่าง ๆ เช่น บันได ห้องน้ำ ผนังทางเดิน โดยติดตั้งให้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 – 100 เซนติเมตร รวมถึงเลือกใช้ราวจับลักษณะต่าง ๆ ให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ราวจับสั้น – สำหรับพยุงตัว ราวจับตรงยาว – สำหรับติดผนังทางเดิน ราวจับตัวแอลหรือวี – สำหรับพยุงตัวขณะลุกหรือนั่ง จะช่วยป้องกันการหกล้มได้ดียิ่งขึ้น

  1. แสงไฟต้องสว่าง

ในส่วนห้องน้ำ ทางเดิน หรือบันไดที่เป็นจุดเสี่ยง ควรเลือกใช้แสงแบบ Day Light ที่ให้ความสว่างชัดเจน  ป้องกันการเดินชนหรือสะดุดสิ่งของซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้  ส่วนสวิตช์ไฟควรมีขนาด 5 – 7.5 เซนติเมตร ให้อยู่ในระยะเอื้อมถึงสะดวก และควรมีแสงตอนเปิดสวิตช์ การติดตั้งต้องสูงจากพื้นอย่างน้อย  45 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 90 เซนติเมตร หรืออาจใช้เทคโนโลยีรีโมทเปิดปิดไฟฟ้าในบ้านแทน

  1. เครื่องใช้ฟังก์ชันสะดวก

ชั้นวางของหรือตู้เสื้อผ้าควรมีฟังก์ชันที่สามารถปรับระดับสูงต่ำได้ตามความเหมาะสมเพื่อให้พอเหมาะกับการเอื้อมหยิบของผู้สูงอายุโดยไม่ต้องเขย่งเท้า ทำให้หยิบจับสะดวกไม่เสียการทรงตัวจนพลัดหกล้ม เช่น การใช้ราวแขวนผ้าแบบปรับโยกระดับ หรือใช้ตู้เสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันปรับระดับราวแขวนเสื้อได้

  1. อุปกรณ์ยามฉุกเฉิน

ควรติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น  สวิตช์ดึงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในห้องน้ำ ปุ่มสัญญาณฉุกเฉินที่จะทำการโทรศัพท์แจ้งเหตุตามหมายเลขที่ตั้งไว้ และแผงสวิตช์หัวเตียงสำหรับเรียกผู้ดูแล เป็นต้น


หากผู้สูงอายุในบ้านมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล้มหรือมีความกังวลว่าจะล้ม
ควรพามาเข้ามารับการประเมินความเสี่ยงการหกล้ม (Fall Risk Assessment) โดยจะเริ่มจากการซักประวัติและ ตรวจร่างกาย เช่น ประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ประเมินการมองเห็น เพื่อจัดโปรแกรมการฟื้นฟูร่างกายที่เหมาะสมเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล เช่น การใช้เครื่องมือช่วยฝึกสมดุลบนบก (Balance Master) ธาราบำบัด และการฟื้นฟูร่างกายกับนักกายภาพ

แม้การปรับสภาพแวดล้อมของบ้านและการดูแลที่ดีจะช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุได้มาก แต่บางครั้งก็สามารถเกิดเหตุสุดวิสัยได้เสมอหากพบผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุหกล้มควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการเอกซเรย์กระดูกบริเวณที่บาดเจ็บหรือล้มกระแทกทันทีเนื่องจากกระดูกในวัยผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการหักร้าวได้สูง โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลัง  นอกจากนี้หากกระดูกในร่างกายแตกหัก ไม่ว่าในส่วนใดก็ตาม ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมทีมแพทย์เฉพาะทางและนักกายภาพบำบัดพร้อมดูแลรักษาให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1719


ที่มา

  • คู่มือบ้านใจดี: บ้านที่ออกแบบเพื่อคุณ โดย สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
  • เว็บไซต์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
  • ศูนย์รักษากระดูกหัก โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์กระดูกและข้อ
ชั้น 1  ฝั่งทิศใต้ (S1) อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
จันทร์-อาทิตย์ 07.00 – 19.00 น.

แชร์