หน่วยดูแลแผลบาดเจ็บจากความร้อน

การดูแลรักษาบาดแผลที่บาดเจ็บจากความร้อนเพื่อลดความรุนแรงโดยเร็วที่สุด ด้วยแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพและนวัตกรรมการดูแลบาดแผลที่ได้มาตรฐานจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่

  1. ไฟไหม้และไฟคลอก
  2. น้ำร้อนลวก
  3. ไฟฟ้าช็อตและฟ้าผ่า
  4. ภยันตรายจากการสูดควันร้อน
  5. ภยันตรายจากสารเคมี

แผลไหม้ (Burns)

แผลไหม้ หมายถึง การที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อร่างกายส่วนตื้นหรือลึกลงไปถูกทำลายจากความร้อนที่สูงมาก กระแสไฟฟ้า รังสี และสารเคมี

ความรุนแรงของการบาดเจ็บขึ้นอยู่กับ

  1. อุณหภูมิ ยิ่งอุณหภูมิสูงมาก ความรุนแรงยิ่งมาก
  2. ระยะเวลาที่สัมผัส (Contact Time) ในอุณหภูมิที่เท่ากัน หากเวลาไม่เท่ากัน ความรุนแรงย่อมต่างกัน


ดีกรีความรุนแรงของแผลไหม้

  • ระดับที่ 1 (First Degree) บาดแผลน้อยที่สุด พบความเสียหายที่ชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น (Epidermal) ผิวหนังมีลักษณะแดง เจ็บปวด กดเจ็บ ไม่พอง บาดแผลในระดับนี้จะหายภายในเวลา 3 – 5 วัน โดยไม่เกิดแผลเป็น
  • ระดับที่ 2 (Second Degree) โครงสร้างที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนังบางส่วนยังไม่เสียหาย ร่างกายซ่อมแซมได้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
    • บาดแผลระดับที่ 2 ชนิดตื้น (Superficial Partial – Thickness) บริเวณชั้นหนังกำพร้าและส่วนบนของหนังแท้ ทำให้ผิวหนังพอง เกิด Blisters สีแดงเรื่อ ๆ ชื้น นุ่ม เจ็บ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์แผลหายและมักไม่เกิดแผลเป็น
    • บาดแผลระดับที่ 2 ชนิดลึก (Deep Partial – Thickness) ลึกถึงชั้น Reticular Dermis ของหนังแท้ ผิวพองหนา แตกง่าย มีโอกาสเกิดแผลเป็นแต่ไม่มาก หากไม่ติดเชื้อ แผลหายภายใน 3 – 6 สัปดาห์
  • ระดับที่ 3 (Third Degree) (Full Thickness) หนังกำพร้า หนังแท้ และเส้นเลือดฝอยในชั้นหนังแท้ถูกทำลาย แผลจะมีสีซีด เจ็บน้อย รักษาโดยผ่าตัดปลูกย้ายผิวหนัง ยกเว้นแผลขนาดน้อยกว่า 1 เซนติเมตร
  • ระดับที่ 4 (Fourth Degree) แผลลึกถึงชั้นใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ต้องล้างแผล ตัดแต่งซ่อมแซมบาดแผล และแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง
  • ระดับที่ 5 (Fifth Degree) แผลลึกถึงชั้นกระดูกต้องล้างแผล ตัดแต่งซ่อมแซมบาดแผล และแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง


ประเมินความลึกของแผลไหม้

  1. แผลไหม้ไม่รุนแรง (Minor Burns)
    แผลไหม้พื้นผิวร่างกายน้อยกว่า 5 – 10% และไม่อยู่ในบริเวณหน้า มือ เท้า ก้น ฝีเย็บ และอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงไม่อยู่ในบริเวณข้อใหญ่ ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ที่สำคัญต้องไม่ใช่แผลไหม้รอบตัวหรือรอบอวัยวะต่าง ๆ เช่น รอบแขน เป็นต้น โดยสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ รักษาบาดแผลไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย ดีกรีความรุนแรงอยู่ในระดับที่ 1 และระดับที่ 2
  2. แผลไหม้รุนแรง (Major Burns)
    แผลไหม้พื้นผิวร่างกายมากกว่า 10 – 20% หรือเป็นแผลลึกมากกว่า 2% โดยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีและผู้ใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี หากเกิน 10% ถือว่าแผลไหม้รุนแรง ส่วนในผู้ที่มีอายุ 10 – 50 ปี หากเกิน 20% ถือว่าแผลไหม้รุนแรง โดยจะมีการไหม้บริเวณใบหน้า มือ เท้า รอบข้อมือ รอบข้อเท้า แม้ไม่มากก็ถือว่าเป็นแผลไหม้รุนแรง รักษาด้วยการทำแผลจนแผลหายและทำการปะหนังตามวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง

***บาดแผลไหม้ที่ถือว่าหนักที่สุดคือ แผลไหม้พื้นผิวร่างกายมากกว่า 20%

  • สูดควันพิษ
  • โดนกระแสไฟฟ้าแรงสูงมากกว่า 500 โวลต์ขึ้นไป
  • มีบาดแผลจากสารเคมีรุนแรง
  • ผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปี

ลักษณะบาดแผลไหม้

  1. แผลไหม้ตื้น (Minor Burns) บาดแผลจะแดง ไม่มีตุ่มพอง รู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อน ต้องระวังไม่ให้ติดเชื้อ
  2. แผลไหม้ลึก (Major Burns) บาดแผลขาวซีด แผลอาจลึกถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ไม่ค่อยรู้สึกเจ็บปวด เพราะเส้นประสาทรับความเจ็บปวดจะอยู่ที่บริเวณผิวหนัง เมื่อผิวหนังเสียหาย เส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดจะถูกทำลาย ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกเจ็บปวด

เป้าหมายการดูแลรักษา

  • ควบคุมการไหลของเลือด
  • กำจัดวัสดุแปลกปลอมอันเป็นสาเหตุการติดเชื้อ
  • กำจัดเนื้อตายและหนอง
  • ปรับสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อการหายของแผล เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดด่าง
  • กระตุ้นให้เกิด Granulation Tissue และผิวหนัง
  • ป้องกันแผลจากอันตราย เช่น การกระแทก เชื้อโรค ฯลฯ

การดูแลตกแต่งบาดแผล

สัปดาห์ที่ 1

  • มีการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิดทุกวัน
  • รักษาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อทาภายนอก (Topicial Antibiotic) อาทิ ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silversulfadiazine Cream) ป้องกันและบำบัดการติดเชื้อบาดแผลไฟไหม้แบบตื้น

ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2

  • มีการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิดทุก 2 – 4 วัน
  • วัสดุปิดแผล แผลติดเชื้อ (Infected) อาทิ วัสดุทำแผลที่มีส่วนประกอบของโลหะเงิน (Silver) กับโฟม (Foam), วัสดุปิดแผล Alginate หรือ แผ่นปิดแผลชนิด Hydrofiber
  • แผลไม่ติดเชื้อ (Noninfected) อาทิ โฟม (Foam), Low Adherents with Gauze

สอบถามเพิ่มเติมที่
หน่วยการดูแลแผลบาดเจ็บจากความร้อน
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ