ศูนย์อาชีวอนามัย

1. การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพเฉพาะ (Targeted Health Risk Assessment)

Targeted HRA เป็นการประมาณระดับความเสี่ยงหรือโอกาสที่ผู้ปฏิบัติงานจะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพจากการได้รับสารเคมีหรือสัมผัสปัจจัยทางกายภาพ (ความร้อน แสง เสียง) โดยพิจารณาจากระดับการสัมผัสและความรุนแรงของผลกระทบของปัจจัยอันตรายเฉพาะชนิด โดยทั่วไปดำเนินการเพื่อยืนยันผลการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น เมื่อความเสี่ยงนั้นอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญ เพื่อประกอบการตัดสินใจดำเนินการจัดการกับความเสี่ยงนั้น


วัตถุประสงค์ของการประเมินความเสี่ยง

  • เพื่อทราบระดับความเสี่ยงที่ถูกต้องกว่า
  • เพื่อวางแผนและจัดสรรงบประมาณจัดการความเสี่ยง
  • เพื่อจัดเก็บและใช้ประโยชน์สำหรับการเฝ้าระวังสุขภาพหรือโรคจากการทำงาน
  • เพื่อสื่อสารความเสี่ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ
  • เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายและปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากสามารถวางแผนและจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และจัดการเรื่องการตรวจสภาพแวดล้อมการทำงาน และการตรวจสุขภาพอาชีวอนามัยตามปัจจัยเสี่ยงได้


ทีมสำรวจและตรวจวัดประกอบด้วย

  • นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
  • อาชีวแพทย์
  • พยาบาลอาชีวอนามัย
  • นักวิทยาศาสตร์


รายงานผลการสำรวจและตรวจวัด ครอบคลุม

  • ผลการประเมินการสัมผัส
  • ระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพเฉพาะ
  • แนวทางการจัดการความเสี่ยง
  • แผนการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม
  • รายการตรวจสุขภาพอาชีวอนามัยตามปัจจัยเสี่ยง

2. การเดินสำรวจสถานประกอบการ (Walkthrough Survey)

เป็นการสำรวจสถานประกอบการเพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน ผู้ปฏิบัติงาน และอันตรายในสิ่งแวดล้อมการทำงาน เพื่อระบุอันตรายต่อสุขภาพในสิ่งแวดล้อมการทำงาน จัดกลุ่มพนักงานที่มีการสัมผัสเหมือนกัน (Similar Exposure Group, SEG) ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น (Baseline Health Risk Assessment)


วัตถุประสงค์

  • เพื่อค้นหาและระบุอันตรายในสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิต ทุกพื้นที่ และทุกลักษณะงาน
  • เพื่อจัด SEG ของผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการด้านการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อไป
  • เพื่อประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น (Baseline HRA) ซึ่งจะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงเฉพาะอันตราย (Targeted HRA) และวางแผนจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ควรสำรวจเมื่อไร

ควรเดินสำรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต สารเคมี ลักษณะและวิธีการทำงาน รวมถึงมาตรการควบคุมต่าง ๆ เช่น ระบบระบายอากาศ และอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการสัมผัสสารของผู้ปฏิบัติงาน

ทีมเดินสำรวจประกอบด้วย

  • อาชีวแพทย์
  • นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
  • พยาบาลอาชีวอนามัย


รายงานผลการสำรวจครอบคลุม

  • สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งทางเคมี กายภาพ และชีวภาพ
  • การจัด SEG
  • Baseline HRA
  • ข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการต่อไป

3. การประเมินการสัมผัสทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industry Hygiene Exposure Assessment)

เป็นการตรวจวัดและการเก็บตัวอย่างในสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อประเมินอันตรายทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ โดยเครื่องมือทางสุขศาสตร์อุสาหกรรม เช่น แบบสำรวจสถานประกอบการ เครื่องมืออ่านค่าโดยตรง ชุดอุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศเพื่อวิเคราะห์ความเข้มข้นสารเคมี และจุลชีพที่แขวนลอยในอากาศ และชุดเก็บตัวอย่างจุลชีพบนพื้นผิว เครื่องตรวจวัดความร้อน แสง เสียง โดยเปรียบเทียบผลกับค่า OEL ในระดับประเทศและสากล


วัตถุประสงค์

  • เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย
  • เพื่อประเมินการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานสำหรับการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ
  • เพื่อประเมินประสิทธิภาพของมาตรการการควบคุม
  • เพื่อตรวจหาแหล่งของอันตราย
  • เพื่อการสอบสวนโรคหรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน
  • เพื่อระบุแหล่งของการสัมผัสที่เกินค่า OEL


อันตรายในสิ่งแวดล้อมการทำงาน

อันตรายในสิ่งแวดล้อมการทำงานที่สามารถประเมินการสัมผัส

  • อันตรายทางเคมี – สารเคมีในอากาศ ใช้เครื่องมือมาตรฐานและวิธีที่เป็นสากล เช่น NIOSH Methods, OSHA methods, MDHS ฯลฯ หรือเครื่องมืออ่านค่าโดยตรง ซึ่งได้รับการเปรียบเทียบความถูกต้องสม่ำเสมอ
  • อันตรายทางกายภาพ : แสงสว่าง เสียง ความร้อน ด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
  • อันตรายทางชีวภาพ: เชื้อรา แบคทีเรีย รวมถึง Legionella ฺBacteria ในอากาศ น้ำ และบนพื้นผิว เก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างโดยผู้ที่มีความชำนาญการเฉพาะด้าน


รายงานผลการสำรวจและตรวจวัด 

รายงานผลการสำรวจและตรวจวัดที่ครอบคลุม

  • ผลการตรวจวัดและวิเคราะห์
  • การแปลผลโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานตามกฎหมายและมาตรฐานเสนอแนะที่เหมาะสม
  • สรุปผลและข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการต่อ เช่น มาตรการควบคุม แผนการประเมินซ้ำ ฯลฯ

4. คุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality, IAQ)

คุณภาพอากาศภายในอาคาร หมายถึง คุณภาพอากาศภายในและรอบ ๆ อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับสุขภาพและความสบายของผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น
ทั้งมลพิษอากาศภายในอาคาร สารเคมีในรูปอนุภาค ก๊าซ และไอระเหย เช่น ฝุ่นจากการจราจร ฟอร์มัลดีไฮด์ สารระเหยอินทรีย์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ฯลฯ ก่อให้เกิด

  • การระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ
  • เนื้อเยื่อโพรงจมูก เยื่อบุทางเดินหายใจ และปอดอักเสบ ทำให้ปอดรับก๊าซออกซิเจนได้น้อยลง
  • อาการหอบหืด ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรังหรือหอบหืดอาจมีอาการรุนแรงขึ้น ในระยะยาวอาจทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
  • มะเร็ง

แหล่งมลพิษภายในอาคาร

  • ภายในอาคาร ได้แก่ วัสดุตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ วัสดุปูพื้น ผนัง อุปกรณ์สำนักงาน เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร สำหรับอาคารใหม่อาจรวมถึงวัสดุตกแต่งและสีทาภายใน
  • ภายนอกอาคาร ได้แก่ การจราจร การก่อสร้าง อุตสาหกรรม

***ระบบทำความเย็นและระบายอากาศที่ทำงานไม่เหมาะสม อาจก่อทั้งมลพิษในอาคารและนำมลพิษจากภายนอกเข้าอาคารได้

ประโยชน์ของการมี IAQ ที่ดี คือ เพิ่มผลิตภาพของงาน จากพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพเนื่องจากปัญหา IAQ และที่มีขวัญกำลังใจในการทำงานจากความใส่ใจของผู้บริหาร

การตรวจวัดคุณภาพอากาศ

  • ควรตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคารทุก 1 ปี
  • ควรตรวจเมื่อมีการปรับปรุงหรือซ่อมแซมอาคาร
  • ควรตรวจเมื่อมีข้อร้องเรียนของพนักงานเกี่ยวกับ IAQ

***ใช้เวลาในการตรวจวัด 1 – 3 วัน ขึ้นกับขนาดพื้นที่ ระบบทำความเย็น ระบบระบายอากาศ และจำนวนจุดตรวจวัด


มาตรฐาน IAQ ที่ใช้

  • American Society of Heating, Refrigerating and Air – Conditioning Engineers (ASHRAE) Standard 62.1 – 2016 สำหรับอาคารสำนักงาน
  • ASHRAE HVAC Design Manual for Hospitals and Clinics สำหรับโรงพยาบาล

สำรวจและตรวจวัด

ทีมสำรวจและตรวจวัด ประกอบด้วย

  • นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม
  • อาชีวแพทย์
  • นักวิทยาศาสตร์

รายงานผลการสำรวจและตรวจวัด 

รายงานผลการสำรวจและตรวจวัด ครอบคลุม

  • ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร ครอบคลุมด้านเคมี ชีวภาพ อัตราการระบายอากาศ และดัชนีความสบาย
  • ระบุแหล่งและสาเหตุของ IAQ
  • แนวทางการป้องกันและควบคุมปัญหา IAQ

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์อาชีวอนามัย โรงพยาบาลกรุงเทพ
เฮลท์ดีไซน์เซ็นเตอร์ ชั้น 5 อาคาร R (Rehabilitation)
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.