หน่วยการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร

หน่วยการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร (GI Motility unit) เป็นคลินิกเฉพาะทางเพื่อให้บริการการวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยมีมาตรฐานการให้การดูแลรักษาในระดับสากล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการตรวจที่ทันสมัย สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร ดังนี้


ผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน

1. การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร และการบีบรัดตัวของหูรูดหลอดอาหาร ชนิดความละเอียดสูง (High Resolution Esophageal Manometry)

เป็นเครื่องมือที่มีความละเอียดสูง ใช้ตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารและการบีบรัดตัวของหูรูดหลอดอาหาร เพื่อใช้ดูการประสานงานกันของกล้ามเนื้อที่ใช้ในในระหว่างการกลืน การบีบตัวแบบส่งผ่านของกล้ามเนื้อเรียบในหลอดอาหาร และ การคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร เพื่อนำไปสู่การหาสาเหตุของการกลืนที่ผิดปกติในผู้ป่วย

2. การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารและตรวจวัดการผ่านของอาหารจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร (High Resolution Esophageal Manometry with Impedance)

เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารและการบีบรัดตัวของหูรูดหลอดอาหาร ชนิดความละเอียดสูง เพิ่มความสามารถในการบ่งบอกการเคลื่อนที่ของของเหลว ลม หรืออาหารในหลอดอาหาร สามารถใช้บอกและแยกชนิดของอาหารที่ตกค้างอยู่ในหลอดอาหารภายหลังการกลืน รวมไปถึงทิศทางของการกลืนได้ โดยจะได้ประโยชน์ในเรื่องของการวินิจฉัยปัญหาการกลืนบางชนิดไดละเอียดขึ้น

ผู้ป่วยกรดไหลย้อน

3. การตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร (pH Monitoring)

เป็นการตรวจบันทึกค่ากรดหรือด่างในหลอดอาหาร เพื่อวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงของภาวะกรดไหลย้อนในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร แต่อาการไม่แน่ชัด หรือผู้ป่วยที่มีกรดไหลย้อนอยู่เดิมที่ได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วไม่สามารถหยุดยาลดกรดได้ ซึ่งมีทั้งแบบติดแคปซูลชนิดไร้สาย และแบบมีสายต่อกับเครื่องบันทึก จากเทคโนโลยีการตรวจเพิ่มเติมนี้ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการลักษณะของกรดไหลย้อนได้ดียิ่งขึ้น

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดแน่นท้องหลังไม่ทราบสาเหตุ

4. การทดสอบไฮโดรเจนทางลมหายใจ(HBT: Hydrogen Breath Test)

เป็นการทดสอบที่ง่ายและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดแน่นท้องหลังอาหารไม่ทราบสาเหตุ เพื่อวินิจฉัยการย่อยที่ผิดปกติของน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กมีความผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นจำนวน หรือ ชนิด และการย่อยน้ำตาลบางชนิดไม่ได้ เช่น น้ำตาลฟรุคโตส น้ำตาลแลคโตส และ น้ำตาลกลูโคส จากผลการตรวจจะช่วยทำให้ผู้ป่วยปรับการรับประทานอาหารเพื่อลดอาการท้องอืด แน่นท้องได้ดีมากขึ้น

ผู้ป่วยท้องผูก

5. การตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก แรงเบ่งจากลำไส้ตรงและการวัดรับรู้และการตอบสนองต่ออุจจาระที่มาอยู่บริเวณลำไส้ตรง (High-Resolution Anorectal Manometry)

เป็นการตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงาน 3 อย่างในระหว่างการขับถ่ายที่สามารถส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังได้โดยจะประเมิน

  1. การรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรงต่ออุจจาระเคลื่อนมาอยู่ที่อยู่ในลำไส้ตรงโดยอาศัยบอลลูน
  2. ประเมิณการทำงานของกล้ามเนื้อในเชิงกรานที่มีผลต่อการเบ่งและแรงเบ่งถ่าย
  3. ประเมินการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก

ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้ถ้าไม่เกิดขึ้นอย่างปกติและต่อเนื่องสอดคล้องกันก็จะก่อให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง นอกจากนั้นยังสามารถวินิจฉัยในผู้ที่ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ( Fecal Incontinence ) ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschprungs’ disease) และรวมถึงสามารถตรวจเพื่อ ประเมินการทำงานของแรงดันบริเวณลำไส้ตรงและกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก ก่อนทำผ่าตัด

6. การตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก แรงเบ่งจากลำไส้ตรงและการวัดรับรู้และการตอบสนองต่ออุจจาระที่มาอยู่บริเวณลำไส้ตรง แบบ 3 มิติ ( 3D High-Definition Anorectal Manometry)

เป็นการตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก,  กล้ามเนื้อมัดที่ช่วยในการขับถ่ายและแรงเบ่งจากลำไส้ตรง รวมถึงวัดการรับรู้และการตอบสนองต่ออุจจาระ และสามารถแสดงเป็นโครงภาพ 3 มิติ ซึ่งทำให้สามารถเห็นความผิดปกติของกล้างเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก หรือ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับถ่ายในเชิงกรานได้อย่างชัดเจนขึ้น ทำไห้ได้ประโยชน์มากขึ้นในผู้ป่วยที่มีการกลั้นอุจจาระได้ไม่ดี หรือการวางแผนผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายที่การผ่าตัดนั้นๆ อาจมีผลต่อกล้ามเนื้อหูรูดได้ด้วย

7. การฝึกการขับถ่ายในผู้ป่วยที่มีการขับถ่ายผิดปกติโดยใช้เครื่องวัดแรงดันกล้ามเนื้อและหูรูดทวารหนัก (Anorectal biofeedback training)

เป็นการใช้เครื่องวัดแรงดันกล้ามเนื้อและหูรูดทวารหนักแสดงภาพกราฟและแรงดันออกทางหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยอาศัยการใส่สายเข้าทางทวารหนักในลักษณะเดียวกันกับการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกการขับถ่าย ซึ่งการฝึกด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ และจดจำรูปแบบการขับถ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้ รวมไปถึงการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักในผู้ป้วยที่กลั้นอุจจาระได้ไม่ดี


สอบถามเพิ่มเติมที่
หน่วยระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ
ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 15.00 น.