ศูนย์สุขภาพสตรี

การดูแลสุขภาพสตรี

การดูแลสุขภาพสตรี

ดาวน์โหลดโบรชัวร์ “โรคในผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม”


โรคในผู้หญิง” ที่ไม่ควรมองข้าม

ในทุกช่วงวัยของผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคภายในที่ควรระวัง โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 30 ปีขึ้นไปอาจมีโอกาสเป็นโรคเนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จากสถิติพบว่าในผู้หญิง 10 คน มี 3 คนเป็นโรคเนื้องอกมดลูกและ 30 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ตรวจพบต้องผ่าตัดเพื่อรักษา


ถุงน้ำหรือซีสต์รังไข่

บริเวณรังไข่มีโอกาสในการเกิดถุงน้ำหรือซีสต์ได้บ่อยมากกว่าอวัยวะอื่น หากพบในผู้ที่อายุน้อยมักจะหายได้เองและไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดกับผู้ที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง จึงควรเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำ
สาเหตุ : อาจเกิดจากการตกไข่ที่ผิดปกติ มีการคั่งของเลือดจนทำให้เป็นถุงน้ำในรังไข่ การเกิดความผิดปกติในการแบ่งเซลล์ หรืออาจเกิดจากการที่ไข่ไม่ตกซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดถุงน้ำได้เช่นกัน
อาการ : หากถุงน้ำมีขนาดเล็กอาจจะไม่แสดงอาการในบางรายหรือมีอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย ตึง ๆ แน่น ๆ หรือปวดประจำเดือนผิดปกติ อาจท้องอืด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่หากปวดท้องรุนแรงฉับพลันอาจหมายความว่าถุงน้ำมีการปริหรือแตก ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

มดลูกโต

คือเยื่อบุโพรงมดลูกมีการเจริญเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดภาวะอักเสบเรื้อรังกลายเป็นพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกขยายตัว และหนาขึ้นจนเกิดภาวะมดลูกโต

สาเหตุ :
ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีแนวโน้มเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดมดลูก รวมทั้งการหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อาการ : ประจำเดือนมากผิดปกติ มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ประมาณเท่าลูกปิงปองออกมาเมื่อมีประจำเดือน ปวดท้องประจำเดือนมาก ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจส่งผลให้มี
อาการปัสสาวะบ่อยเนื่องจากมดลูกเบียดกระเพาะปัสสาวะ

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือ ช็อกโกแลตซีสต์

ในมดลูกมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่บุภายใน ทำหน้าที่สร้างประจำเดือนซึ่งสามารถหลุดร่อนได้ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หมายถึงเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูกหรือแทรกในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก รวมถึงอาจไปเติบโตตามอวัยวะต่าง ๆ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ รังไข่ ที่เรียกว่า “ช็อกโกแลตซีสต์” (Chocolate Cyst) มีลักษณะเป็นถุงน้ำรังไข่ที่บรรจุของเหลวคล้ายช็อกโกแลต

สาเหตุ :
เกิดจากการไหลย้อนของประจำเดือนเข้าไปอุ้งเชิงกรานผ่านท่อนำไข่และฝังตัวในโพรงมดลูกหรืออวัยวะต่าง ๆ บริเวณที่พบบ่อยคืออุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ ผนังอุ้งเชิงกราน ผิวมดลูก และปากมดลูก
อาการ : ปวดประจำเดือนมาก ปวดนาน ปวดบริเวณท้องน้อยเป็นประจำในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังมีประจำเดือน ปวดขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ และทำให้มีบุตรยาก

เนื้องอกมดลูก

มดลูกสามารถพบก้อนเกิดขึ้นได้ทั้งติ่งเนื้อและเนื้องอก โดยพบเนื้องอกอยู่ได้ในหลายตำแหน่งของมดลูก เช่น ผิวนอกผนังมดลูก เนื้อมดลูก ผนังมดลูก และโพรงมดลูก เป็นต้น โดยเนื้องอกมดลูกบางชนิดจะส่งผลให้มีบุตรยากและมีโอกาสแท้งได้ง่ายอีกด้วย

สาเหตุ :
ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด รวมถึงฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) อาจเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเนื้องอก โดยผู้ที่มีน้ำหนักเกินอาจมีความเสี่ยงมากขึ้นได้
อาการ : ประจำเดือนมามากผิดปกติ มีลิ่มเลือด ประจำเดือนมาเกิน 1 สัปดาห์ หรือนานผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือนรุนแรงเลือดออกผิดปกติในช่วงไม่มีประจำเดือนปีสัสาวะบ่อย หรือในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการ

พังผืดในอุ้งเชิงกราน

เป็นภาวะที่พังผืดเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะที่อยู่ในกระดูกอุ้งเชิงกราน ที่พบมากคือ บริเวณท่อนำไข่ ปีกมดลูก ด้านหลังมดลูก ซึ่งการมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานส่งผลให้มีบุตรยากและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย

สาเหตุ :
อวัยวะที่อยู่ในกระดูกอุ้งเชิงกราน เช่น ท่อนำไข่ปีกมดลูก หรือมดลูกด้านหลังเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อบ่อยครั้ง จนก่อให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน มีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รวมทั้งการผ่าตัดมดลูกหรือหน้าท้องก็เป็นสาเหตุในการเกิดพังผืดได้เช่นกัน
อาการ : ปวดรัด ปวดตื้อ หรือปวดจี๊ดบริเวณท้องน้อย ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ มีอาการท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วยบางรายมีการปวดหลังร้าวลงขาและบางรายที่มีการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจะมีไข้ ปวดท้องและตกขาวผิดปกติ

โรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst)

มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ถุงน้ำบิดขั้วหรือแตก ถึงขั้นถูกตัดรังไข่ได้ และหากภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ การผ่าตัดขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตร หรือการคลอดก่อนกำหนดได้

สาเหตุ :
เกิดจากเซลล์ที่มีการพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ มาอยู่ที่บริเวณรังไข่ตั้งแต่แรกเกิด แล้วพัฒนาหรือถูกกระตุ้นให้เจริญไปเป็นเซลล์ไขมัน เส้นผม กระดูกอ่อน หรือฟันจนเกิดเป็นถุงน้ำที่รังไข่ โดยพบได้แม้อายุยังน้อย ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือแม่กระทั่งเด็กผู้หญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน
อาการ : ไม่มีการแสดงอาการของโรค ไม่ปวดประจำเดือน ไม่มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำแตก รั่ว หรือบิดขั้วซึ่งพบได้มากที่สุดโดยจะมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวา กดแล้วเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ต่ำ ๆ ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินจะทำให้รังไข่เน่าและจำเป็นต้องตัดทิ้งในที่สุด


ผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูงรักษาโรคในผู้หญิง ADVANCED MINIMALLY INVASIVE SURGERY

โรคภายในของผู้หญิงส่งผลต่อสภาพจิตใจและคุณภาพการใช้ชีวิต ด้วยอาการปวดท้องที่รุนแรงต่อเนื่อง และเรื้อรัง ผู้หญิงหลายคนจำต้องหยุดงานในช่วงมีประจำเดือน การวินิจฉัยที่แม่นยำและรักษาอย่างตรงจุดจะช่วยสร้างความมั่นใจที่ดีได้อีกครั้ง

ระบบอวัยวะภายในของผู้หญิงมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน เทคโนโลยีอันแม่นยำจึงช่วยตอบโจทย์การรักษาให้ตรงจุด ทั้งยังช่วยคงคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่เสมอ เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูง (Advanced Minimally Invasive Surgery) การรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่ใช้กล้องแบบ 4K Ultra High Definition พร้อมด้วยประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูง แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในแบบ 3D ได้คมชัด เหนือระดับ Full HD จึงสามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงการเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อน มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กเพียง 5-10 มิลลิเมตร ประมาณ 3-4 รูเท่านั้น จึงฟื้นตัวไว กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างไร้กังวลภายใน 1 สัปดาห์ 


ศูนย์สุขภาพสตรี“กูรู เรื่องผู้หญิงและเด็ก” (รู้ทุกเรื่องสุขภาพผู้หญิงและเด็ก)

พร้อมดูแลสุขภาพภายในของผู้หญิง เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ ตรวจภายในเพื่อเช็กความปกติของมดลูก รังไข่ และอวัยวะภายในอื่น ๆ พร้อมรับคำปรึกษาจากสูติ-นรีแพทย์ผู้ชำนาญการเป็นประจำทุกปีเพราะแม่ผู้ที่เคยเป็นและรักษาจนหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีกรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคของสตรีได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี



สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สุขภาพสตรี
ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.