กลิ่นปากเป็นปัญหาที่พบได้ในคนทั่วไปก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม และส่งผลระยะยาวต่อสภาวะจิตใจได้ เป็นสาเหตุทางกายภาพ (Physiologic Halitosis) เกิดจากกระบวนการย่อยสลายปกติภายในช่องปาก เช่น หลังตื่นนอนในเวลาเช้าหรือกลิ่นจากอาหารบางประเภท ได้แก่ หัวหอม กระเทียม สะตอ กาแฟ เป็นต้น แต่ถ้ากลิ่นนั้นคงอยู่นานหรือเป็นอยู่อย่างเรื้อรัง แสดงว่าอาจมีโรคหรือความผิดปกติเกิดขึ้น (Pathologic Halitosis)
สาเหตุของการเกิดกลิ่นมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ
- สาเหตุจากภายในช่องปาก เป็นสาเหตุหลักของการเกิดกลิ่น (ร้อยละ 90) เกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะแบคทีเรียแกรมลบที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งมักพบที่ร่องเหงือกลึก คราบจุลินทรีย์บนตัวฟันหรือลิ้น และการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ที่อยู่ภายในช่องปาก โดยเฉพาะคราบโปรตีนซึ่งก่อให้เกิดสารระเหยที่มีกลิ่นเหม็น
- สาเหตุจากภายนอกช่องปาก พบได้ค่อนข้างน้อย เพียงร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นปัญหามาจากความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น โรคไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น คราบจุลินทรีย์บนลิ้น (ฝ้าสีขาว) เป็นแหล่งกำเนิดหลักของกลิ่น เนื่องจากลิ้นมีพื้นที่ผิวสัมผัสมากกว่าอวัยวะอื่นๆ ในช่องปาก ประกอบกับพื้นผิวของลิ้นเป็นช่องหรือซอกที่ทำให้เกิดสภาวะที่มีออกซิเจนน้อย เหมาะกับการสะสมและเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และร่องหรือซอกลิ้นยังปกป้องแบคทีเรียจากการชะล้างของน้ำลาย นอกจากนี้ ลิ้นยังสามารถรับสารอาหารที่ผ่านเข้ามาในช่องปากได้ง่าย ซึ่งสารอาหารจะถูกย่อยสลายจนเกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น
การตรวจวินิจฉัย การทดสอบกลิ่น มี 2 วิธี คือ
- การทดสอบกลิ่นด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยใช้ช้อนพลาสติกเล็กๆขูดด้านบนของลิ้น หรือใช้ไหมขัดฟันชนิดไม่เคลือบแว็กซ์ผ่านลงไปที่บริเวณซอกฟันด้านในแล้วดมกลิ่น ซึ่งถ้าสงสัยว่าตนเองมีกลิ่นชนิดมีพยาธิสภาพจริงหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใดเพื่อหาทางกำจัดหรือรักษาพยาธิสภาพนั้น
- การทดสอบกลิ่น ด้วยเครื่องมือ มีหลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายและสามารถวัดปริมาณของก๊าซที่เป็นสาเหตุกลิ่น ได้คือ เครื่อง Simplified Gas Chromatograph ซึ่งเหมาะกับการวินิจฉัย และติดตามการรักษา
การรักษา
แนวทางการรักษา คือ ลดจำนวนเชื้อที่เป็นสาเหตุลง โดยการดูแลสุขอนามัยช่องปากอย่างดี เน้นการทำความสะอาดทั้งฟันและลิ้น
ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน รวมทั้งกำจัดและรักษาปัญหาหรือพยาธิสภาพภายในช่องปากที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อ เช่น ฟันผุ วัสดุอุดฟันที่มีสภาพไม่ดี โรคเหงือกอักเสบ เป็นต้น เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เน้นผักและผลไม้ ดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอร่วมกับดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวม ไม่เครียด พักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง
แพทย์ที่รักษา : ทพญ. มัณฑารพ ชัยมุสิก